ไม่พบผลการค้นหา
ภายในพระวิหาร วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา มีจิตรกรรมภาพพงศาวดาร แสดงประวัติของพระนเรศวร วาดโดยศิลปินไทยสมัยรัชกาลที่ 7 ใช้เทคนิคอย่างตะวันตก

ภายในพระวิหาร วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา มีจิตรกรรมภาพพงศาวดาร แสดงประวัติของสมเด็จพระนเรศวร วาดโดยศิลปินไทยสมัยรัชกาลที่ 7 ใช้เทคนิคอย่างตะวันตก

 

วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตเกาะเมืองพระนคร ที่ตำบลหอรัตนไชย ใกล้กับป้อมเพชร ตรงที่แม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกัน

 

เป็นวัดที่พระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 สร้างไว้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เรียกชื่อว่า วัดทอง ต่อมาในปีพ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า วัดได้ถูกทำลาย 

 

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสวยราชสมบัติและสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ.2325 พระองค์กับวังหน้าได้ปฏิสังขรณ์วัดทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม แล้วพระราชทานนามว่า วัดสุวรรณดาราราม ตามนามของพระราชบิดา คือ ทองดี และพระราชมารดา คือ ดาวเรือง

 

 

วัดสุวรรณดารารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ได้รับการบูรณะและสร้างเพิ่มเติมในเวลาต่อมาจากพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ จนกล่าวกันว่า วัดสุวรรณดารารามเสมือนเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี

 

 

ภายในวัดมีศิลปกรรมที่น่าสนใจ คือ พระอุโบสถและจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ภาพวาดพงศาวดารพระนเรศวรสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเขียนแบบตะวันตกในพระวิหาร เจดีย์ทรงระฆังสมัยรัชกาลที่ 4 แท่นพระศรีมหาโพธิ์ และหอระฆังสร้างแบบศิลปกรรมตะวันตก

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระวิหาร ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง เขียนภาพพงศาวดารเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวร ด้วยรูปแบบศิลปกรรมตะวันตก

 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 7  พระองค์โปรดเกล้าฯให้พระยาอนุศาสตร์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เขียนภาพภายในวิหาร  จิตรกรรมมีความแตกต่างจากภาพที่พบตามพุทธสถานทั่วไป ซึ่งมักเขียนเรื่องราวทางพุทธศาสนา แต่ในวิหารแห่งนี้แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ผสมผสานกับแบบประเพณี

 

 

บนฝาผนังเหนือช่องประตูหน้าต่างเป็นภาพเทพชุมนุม ด้านขวาพระประธานเป็นภาพเทพธิดา ด้านซ้ายเป็นภาพเทพบุตร ภาพเทพชุมนุมหันหน้าไปทางพระประธาน แสดงการนำเครื่องบูชาไปถวายพระพุทธเจ้า 

 

 

ฝาผนังหลังพระประธาน เป็นภาพเทพบุตรเทพธิดา เหาะล่องลอยบนสวรรค์ บ้างดีดสีตีเป่าเครื่องดนตรี บ้างเหาะพนมมือมาเป็นคู่ๆ กระทำอัญชลีพระประธาน ซึ่งประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช

 

 

บนผนังทิศตะวันออก เหนือประตูวิหาร เป็นภาพใหญ่เต็มผนัง แสดงเหตุการณ์ตอนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา 

 

 

ระหว่างกรอบประตูหน้าต่าง เป็นพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระนเรศวร ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จนถึงเสด็จสวรรคต มีอักษรบรรยายใต้ภาพ รวม 20 ตอน เริ่มจากซ้ายมือพระประธาน เวียนทางขวามาจนจบอีกด้านหนึ่ง

 

 

ด้านล่างงานจิตรกรรม มีตัวอักษรเขียนบรรยายเหตุการณ์ในภาพ

 

 

ภาพประกาศอิสรภาพ มีคำบรรยายว่า "พระนเรศวรทรงประกาศอิสระ พ.ศ.2127 ประชุมนายทัพนายกองที่พลับพลา ต่อหน้าพระสงฆ์และพวกมอญแล้วทรงหลั่งทักษิโณทกให้ตกเหนือพื้นดิน ประกาศอิสระภาพของประเทศสยาม"  การเขียนภาพมีการผลักระยะใกล้ไกลตามแบบจิตรกรรมตะวันตก

 

 

ภาพสวรรคต มีคำบรรยายว่า "พระเจ้าหงสาวดีสิ้นพระชนม์  พระเจ้าอังวะตั้งตัวเป็นใหญ่  ขยายอำนาจรุกมาทางเมืองเงี้ยว ที่มาขึ้นอยู่กับเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปทางเมืองเชียงใหม่ หมายจะไปตีเมืองอังวะ ไปประชวรสวรรคตที่เมืองหาง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงเชิญพระบรมศพมาสู่กรุงศรีอยุธยา พระชันษา 49 ปี พ.ศ.2147"  

 

 

ด้านหลังพระวิหาร มีเจดีย์ทรงระฆัง (เจดีย์องค์ใหญ่ทางซ้าย) ตั้งบนลานประทักษิณ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4

 

 

เจดีย์ประธานบรรจุพุทธสารีริกธาตุ ล้อมรอบด้วยเจดีย์ราย 10 องค์

 

 

พระอุโบสถสร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ ผนังด้านหน้าเจาะช่องประตู 3 ช่อง ฐานอาคารมีลักษณะแอ่นท้องสำเภาแบบอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

 

ด้านหน้าพระอุโบสถ

 

 

หน้าบันสลักไม้ รูปนารายณ์ทรงครุฑ

 

 

รอบอุโบสถมีเสมาคู่

 

 

ฐานพระอุโบสถมีลักษณะแอ่นโค้งแบบเรือสำเภา ขณะที่ฐานของพระวิหารเป็นแนวตรง นอกจากนี้ พระวิหารไม่มีคันทวยประดับรับเชิงชายคาเหมือนอย่างพระอุโบสถ

 

 

คันทวยเป็นไม้แกะสลัก ทำลายนกพันโดยรอบ ลวดลายอ่อนช้อยงดงาม

 

 

ภายในอุโบสถ มีพระประธานปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาประดิษฐานนพดลมหาเศวตรฉัตร เพดานเป็นไม้จำหลักลายดวงดาราบนพื้นสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นดาวประธาน ล้อมรอบด้วยดาวบริวาร 12 ดวง อยู่ในกรอบย่อมุมไม้สิบสอง

 

 

บนผนังด้านข้าง มีจิตรกรรมภาพเทพชุมนุม ด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน

 

 

ไตรภูมิโลกสัณฐานเป็นจักรวาลตามแนวคิดพุทธศาสนา จักรวาลมีสัณฐานกลม ประกอบด้วยเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ล้อมรอบด้วยทิวเขารูปวงแหวน สูงลดหลั่นกัน รวม 7 ชั้น มีมหาสมุทรคั่นอยู่ระหว่างชั้นของทิวเขา จิตรกรรมมักแสดงด้วยภาพตัดตามระนาบดิ่ง

 

 

บนผนังเหนือประตูพระอุโบสถ เบื้องหน้าพระประธาน เป็นภาพมารผจญ 

 

 

ภาพเหล่าอมนุษย์วรรณะต่างๆ เช่น เทวดา ยักษ์ วิทยาธร พญาครุฑ พญานาค พากันมาร่วมชุมนุมครั้งสำคัญ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ เหล่าผู้มีฤทธิ์นั่งเรียงสลับโดยไม่ลำดับบุญบารมีว่าใครสูงต่ำกว่ากัน ในทางช่างเรียกว่า เทพชุมนุม มักวาดไว้เหนือผนังหน้าต่างของอุโบสถ

 

 

บนผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนจิตรกรรมแบบไทยประเพณี

 

 

จิตรกรรมเล่าเรื่องทศชาติชาดก และสุวรรณสามชาดก สภาพของภาพเขียนยังค่อนข้างสมบูรณ์

 

 

ด้านหน้าพระอุโบสถ มีพระศรีมหาโพธิ์ที่ได้มาจากประเทศอินเดีย รัชกาลที่ 4 ทรงนำมาปลูกไว้ 

 

 

ด้านหลังพระอุโบสถ มีเจดีย์บรรจุอัฐิของพระชนกนารถของรัชกาลที่ 1

 

 

ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีหอระฆัง เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ทรงสี่เหลี่ยมสองชั้น ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเจาะช่องประตูเป็นรูปกลีบบัว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4.

 

เอกสารอ้างอิง

 

วาสนา พบลาภ.  (2546).  การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา.  สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร    มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.

 

สันติ เล็กสุขุม.  (2553).  งานช่าง-คำช่างโบราณ : ศัพท์ช่างและข้อคิดเกี่ยวกับงานช่างศิลป์ไทย.  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.  

 

แหล่งข้อมูลออนไลน์

 

วัดสุวรรณดาราราม. สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

วัดสุวรรณดาราราม.  วัดโบราณในพระนครศรีอยุธยา

 

ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง

 

ไทยทัศนา : (1) วัดเบญจมบพิตรฯ

ไทยทัศนา : (2) วัดสุวรรณาราม

ไทยทัศนา : (3) วัดราชโอรส

ไทยทัศนา: (4) วัดโสมนัสวิหาร

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog