วัดไทยทรงเก๋งจีนมีหลายแห่ง สร้างนอกแบบแผนประเพณี จึงเรียก ‘วัดนอกอย่าง’ พระอารามที่ออกแบบในแนวใหม่เป็นแห่งแรก คือ วัดราชโอรส ฝั่งธนบุรี สถาปนาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2
วัดราชโอรสาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดราชโอรส ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชยฝั่งตะวันตก ทิศเหนือติดคลองบางหว้า เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดนี้สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่าวัดจอมทอง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอารามในสมัยรัชกาลที่ 2 จากนั้นถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชโอรส ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3
ด้วยเพราะสร้างตามความนิยมชมชอบในศิลปะจีนของผู้บูรณะ โบสถ์ วิหาร จึงไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อย่างวัดที่สร้างกันเป็นสามัญ หากแต่ประดับลวดลาย รูปภาพ สถูปเจดีย์ กระทั่งก่อสร้างอาคาร เป็นอย่างจีน อาทิ ซุ้มสีมาทรงเกี้ยว
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรียกวัดแบบนี้ว่า “วัดนอกอย่าง” บ้างเรียกว่า “แบบพระราชนิยม”
พระอุโบสถ มองจากท่าน้ำหน้าวัด แลเห็นซุ้มประตูกำแพงแก้วแบบจีน
ที่มุมกำแพงแก้ว ด้านหน้าพระอุโบสถ มีเจดีย์ทรงปรางค์ 2 องค์คู่กัน ขนาดเล็ก รูปทรงเรียว
หน้าบันพระอุโบสถแบ่งเป็น 2 ตับ ตับบนเป็นลายสัญลักษณ์มงคล ตับล่างเป็นลายทิวทัศน์
เสาอาคารเป็นทรงเหลี่ยม ไม่มีลวดลาย ไม่มีคันทวย หน้าบันเป็นงานก่ออิฐถือปูน กรอบหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ
ลายหน้าบันตับบน ประกอบด้วยแจกันและช่อดอกไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยมังกรคู่ ถัดขึ้นไปเป็นหงส์คู่ นอกนั้นเป็นลายมงคลของจีน เช่น ลายกระบี่ ลายเมฆ ลายลูกท้อ น้ำเต้า ผีเสื้อ ดอกไม้ และไม้มงคลต่างๆ ตับล่างเป็นภาพทิวทัศน์ ตรงกลางเป็นบ้านที่มีคนอาศัยอยู่ภายใน ด้านหน้าประดับด้วยสิงโตคู่ ด้านข้างประดับด้วยเขามอ มีภูเขา ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ
หน้าประตูโบสถ์ มีรูปทวารบาลแบบจีน
กรอบประตูโบสถ์ ประดับปูนปั้น ลวดลายดอกเบญจมาศ
บานประตูด้านนอก ประดับมุก ลายมังกรดั้นเมฆ
กรอบหน้าต่างโบสถ์ ประดับลวดลายเข้าชุดกับกรอบประตู
เพดาน เขียนดอกเบญจมาศทอง บนพื้นสีแดง
ผนังด้านในพระอุโบสถ เขียนเป็นลายเครื่องบูชาแบบจีน
ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนลายอย่างจีน
ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง
ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง
พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร เป็นพระปางสมาธิ
พระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระพุทธรูป พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจำรัชกาล และศิลาจารึกดวงชันษา
ด้านหลังพระอุโบสถ มีสถูปแบบจีน ที่เรียกว่า ถะ ถัดออกไปมองเห็นหลังคาของวิหารพระนอน
ถะมีรูปทรงเป็นเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้นๆ ก่อด้วยอิฐถือปูนปิดทับ ภายนอกเป็นแผ่นหินอ่อน
ตรงด้านหน้าทางซ้ายของพระอุโบสถ มีพระแท่นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
พระวิหารเป็นอาคารประธานของวัด มีระเบียงคดล้อมรอบ
ทางเข้าสู่วิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นประตูทรงกลม
บันไดและประตูทางเข้าสู่พระวิหาร
พระนอนในวิหาร มีนามว่า พระพุทธไสยาสน์รินทร์ทอง ชินศากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร
องค์พระนอนมีความยาว 20 เมตร สูง 6 เมตร
เพดานพระวิหาร เขียนลายดอกเบญจมาศ นก และผี้เสื้อ
บานหน้าต่างด้านใน เขียนภาพทิวทัศน์อย่างจีน
ลวดลายเป็นภาพนกแบบต่างๆ
รอบวิหารพระนอน มีเจดีย์ทรงเครื่อง ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2556 : 77) ให้ความเห็นว่า เจดีย์บริวารล้อมรอบพระวิหารแห่งนี้ อาจหมายถึงอดีตพุทธเจ้า ขณะพระพุทธไสยาสน์แสดงความหมายแทนปางปรินิพพาน
หน้าบันพระวิหาร ประดับกระเบื้องสี เป็นลายดอกเบญจมาศและรูปสัตว์มงคลของจีน เช่นเดียวกับหน้าบันพระอุโบสถ
ศาลาการเปรียญ เป็นศิลปกรรมแบบผสม ไทย-จีน
หลังคาเป็นแบบจีน ลด 2 ชั้น บนหลังคาประดับรูปถะ ขนาบด้วยรูปมังกรกระเบื้องเคลือบสีอย่างศาลเจ้าจีน ผนังด้านนอกตอนบนเขียนรูปผลไม้มงคล เช่น ส้มมือ ทับทิม ผลท้อ
พระประธานในศาลาการเปรียญ
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางประทานพระธรรมเทศนา ถือตาลปัตร
เพดานพระวิหาร เขียนลายดอกไม้ใบไม้
หอระฆัง
ภายในช่องระหว่างเสาของหอระฆัง มีรูปวาดนิทานไซอิ๋ว ประดับโดยรอบ.
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2556). พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.
วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร. ธรรมะไทย.
ติดตาม ไทยทัศนา ย้อนหลัง