วัดเบญจมบพิตรฯสถาปนาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดดเด่นด้วยศิลปะผสมผสาน ไทย-เขมร-ฝรั่ง ภาพจิตรกรรมภายในพระที่นั่งทรงผนวชสะท้อนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 2 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ทรงมีศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้หลังจากรบชนะศึกเจ้าอนุวงศ์ โดยร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าน้องนางเธออีก 4 พระองค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร หมายถึง วัดของเจ้านายห้าพระองค์
ในปีพ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสร้างสวนดุสิตพร้อมกับพระราชวังดุสิตขึ้นบริเวณตอนเหนือของวัดเบญจมบพิตร และโปรดเกล้าฯให้บูรณวัดเบญจมบพิตรใหม่ทั้งพระอาราม โดยมีสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์เป็นประธานในการออกแบบ วางผัง และควบคุมการก่อสร้าง ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข สร้างด้วยหินอ่อนจากอิตาลี ออกแบบด้วยการผสมผสานศิลปะแบบไทยประเพณี ศิลปะเขมร และศิลปะตะวันตก
ลักษณะไทยประเพณีของพระอุโบสถ เห็นได้จากอาคารที่มีหลังคาซ้อนชั้น เครื่องลำยองมีไขรา ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคลำยอง หน้าบันประดับลวดลายอย่างไทย
การออกแบบพระอุโบสถปรากฏแรงบันดาลใจจากศิลปะเขมร ได้แก่ ระเบียงคด โดยหลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู (กระเบื้องลอนหรือกระเบื้องกาบกล้วย)
อิทธิพลเขมรในการออกแบบพระอุโบสถ ยังปรากฏที่การประดับสิงห์คู่หน้าบันไดด้วย
ลักษณะของสิงห์มีรูปแบบเช่นเดียวกับที่พบตามปราสาทเขมร
อิทธิพลศิลปะตะวันตก นอกจากการใช้วัสดุหินอ่อนแล้ว ยังปรากฏที่การประดับกระจกสีเหนือกรอบหน้าต่าง เพื่อให้แสงเข้าสู่พระอุโบสถแบบเดียวกับโบสถ์ในคริสต์ศาสนา
หน้าบันพระอุโบสถ เป็นงานไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง มีการประดับแบบผสมผสาน คือมีทั้งแบบประเพณีดั้งเดิม คือ รูปนารายณ์ทรงสุบรรณบนหน้าบันหลักทางทิศตะวันออก และตราสัญลักษณ์ต่างๆในทิศอื่นๆ
หน้าบันด้านทิศเหนือ เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สะท้อนแนวคิดเรื่องศูนย์กลางจักรวาล คิอ พระอารามเปรียบเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แสดงด้วยสัญลักษณ์พระอินทร์
หน้าบันด้านทิศตะวันตก เป็นรูปโอม อยู่ในปราสาทหรือบุษบก รูปโอมเป็นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1
หน้าบันด้านทิศใต้ เป็นรูปเสมาธรรมจักร แสดงความหมายถึงพุทธศาสนา
การออกแบบที่เป็นแนวคิดใหม่อย่างหนึ่ง คือ สีมา อันเป็นเครื่องแสดงขอบเขตของพระอุโบสถ ซึ่งทำเป็นเพียงลายเส้น มีรูปใบสีมาสี่มุม ปรากฏบนแผ่นหินอ่อน ไม่ได้เป็นใบสีมา นัยว่าผู้ออกแบบไม่ต้องการให้มีซุ้มสีมาบดบังความงามของอาคาร
ซุ้มประตูเป็นแบบซุ้มเรือนแก้ว บานประตูเป็นงานไม้ ประดับด้วยทวารบาล หล่อจากโลหะ ทำเป็นรูปยักษ์และเทวดาถือพระขรรค์ ยืนเหยียบสิงโตแบบเซี่ยวกาง
พระประธานในพระอุโบสถ คือ พระพุทธชินราชจำลอง เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 สถาปนาวัดเบญจมบพิตรฯ โปรดเกล้าฯให้ช่างขึ้นไปสร้างจำลองพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ด้วยว่าเมื่อคราวผนวชเป็นสามเณรนั้น ได้ตามเสด็จพระราชบิดา คือ รัชกาลที่ 4 ไปนมัสการพระพุทธชินราช และทรงมีพระราชปรารภว่า ",..พระพุทธชินราชองค์นั้นงดงามหาพระพุทธรูปใดเปรียบไม่มี..."
ภายในวัดมีจิตรกรรมอันโดดเด่นปรากฏอยู่ภายในพระที่นั่งทรงผนวช
รัชกาลที่ 5 โปรดฯให้รื้อพระที่นั่งหลังนี้จากพระบรมมหาราชวังมาสร้างใหม่ ณ วัดแห่งนี้ ใช้เป็นที่ประทับเมื่อคราวพระองค์ทรงผนวช
ภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระเสลี่ยงน้อย พระบรมรูป เครื่องลายคราม เป็นอาทิ บนผนังเขียนงานจิตรกรรม แสดงภาพเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ พระราชประวัติรัชกาลที่ 5 รวมทั้งสิ้น 20 ตอน เริ่มตั้งแต่โสกันต์ บรรพชา เทศนา หว้ากอ ธรณีร่ำไห้ ราไชสวรรย์ มิ่งขวัญประชา ชีบาชื่นชม ภิรมย์ปรางค์ปรา พุทธานุสาวรีย์ พระบารมีไพบูลย์ ทูตทูลสาส์นตรา ราชานิวัติ ไพรัชประพาส ประเทศราชนานา (มี 2 ตอน) รักษาพุทธศาสน์ ตรวจราชการ สังหารกุมภา และสุดท้าย คือ ย้ายมาอยู่ที่นี่
ภาพงานพระเมรุพระบรมศพรัชกาลที่ 4 ภายในพระที่นั่งทรงผนวช
ภาพวาดแสดงพระที่นั่งองค์นี้เมื่อครั้งยังอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
ภาพอาคารในจิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งทรงผนวช
ภาพบุคคลในจิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่���ทรงผนวช
ภาพอาคารและบุคคล พระที่นั่งทรงผนวช
เอกสารอ้างอิง
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2556). พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ : พัฒนาการของงานช่างและแนวคิดที่ปรับเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.