วัดไทรอารีรักษ์ อำเภอโพธาราม มีรอยพระพุทธบาทครอบด้วยเก๋งจีนในวิหาร ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนัง แสดงฉากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า
รัมภา สาลิการิน (2548) ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ของวัดไทรอารีรักษ์ พบว่า ฉากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า มีนัยเกี่ยวโยงกับประเพณีการทำบุญของชาวมอญในวันอัฏฐมีบูชา
เข้าใจว่าเดิมวัดนี้เป็นวัดร้าง สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวมอญได้บูรณะขึ้นใหม่และจัดตั้งเป็นวัดในปีพ.ศ.2353
@ ภายในอุโบสถ (ซ้าย) มีจิตรกรรมภาพถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า และในวิหาร (ขวา) มีเก๋งจีนครอบพระพุทธบาท
แต่ก่อนบริเวณวัดเป็นป่ารก มีผึ้งอาศัยอยู่มาก ชาวมอญจึงเรียก “วัดซาย” (ซาย แปลว่า ผึ้ง) ต่อมาเพี้ยนเป็น “วัดไทร” และเรียก “วัดไทรอาราม” ในเวลาต่อมา
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการบูรณะวัด ลุล่วงสำเร็จด้วยความสามัคคีอารีอารอบของชาวบ้านและทางวัด เมื่องานแล้วเสร็จ จึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า วัดไทรอารีรักษ์
สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำคณะทัศนศึกษาไปเยี่ยมชม เมื่อ 26 กันยายน 2558
เก๋งจีนครอบรอยพระพุทธบาท
ภายในวิหาร มีพระพุทธรูปอายุมากกว่า 200 ปี ตรงกลางวิหารมีเก๋งจีนขนาดใหญ่ สร้างเป็นมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท ทำด้วยโลหะ ซึ่งเชื่อกันว่าอาจจะเคยอยู่กลางแจ้งมาก่อน
จิตรกรรมในพระอุโบสถ
โบสถ์ของวัดไทรอารีรักษ์สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีนิยมภาคกลาง เครื่องหลังคามีช่อฟ้า รวยระกา หางหงส์ และหน้าบันปูนปั้น เข้าใจว่าจิตรกรรมเขียนขึ้นในช่วงเวลาของการสร้างโบสถ์
ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน มีลักษณะสืบทอดแบบประเพณี และสะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี ของชนชาติต่างๆ
ส่วนบนสุดของผนังแปที่ติดเพดานทั้งสองด้าน เขียนภาพพระอดีตพุทธ สะท้อนความเชื่อของชาวมอญ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น จิตรกรรมไทยทั่วไปไม่นิยมวาดภาพอดีตพุทธแล้ว
ใต้แถวพระอดีตพุทธเป็นภาพพุทธประวัติและอริยสงฆ์ ภาพบุคคลแต่งกายแบบชาวมอญ จีน และกะเหรี่ยง ภาพอาคารเป็นทรงปราสาทแบบมอญ
ภาพเขียนบนผนังสกัด ด้านหลังพระประธาน ส่วนบน เข้าใจว่าเป็นภาพพระอุปคุตต์ ( ดู ตำนานพระอุปคุตต์)
ฉากที่น่าสนใจ คือ ตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แสดงภาพการจัดงานปลงพระศพอย่างละเอียด
ในภาพขบวนแห่พระศพ ราชรถมีเครื่องบนเป็นทรงปราสาทแบบศิลปะมอญหรือพม่า พระโกศมิได้เป็นทรงกลมสูงแบบไทย แต่เป็นโลงศพสำหรับพระสงฆ์ชั้นเจ้าอาวาสแบบมอญที่เรียกว่า “ลุ้ง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “โลงยอดดอกผักบุ้ง” มีลักษณะสอบล่าง ผายบน
ภาพถวายพระเพลิงพระบรมศพนี้ มีมโหรสพสมโภชเอิกเกริก เช่น การแสดงหนังใหญ่จากวัดขนอน วงปี่พาทย์มอญ หุ่นละครเล็ก โรงหุ่นประดับธงรูปช้างเผือก ธงชาติไทยสมัยแรกก่อนเปลี่ยนเป็นธงไตรรงค์ในสมัยรัชกาลที่ 6.
ติดตามสารคดีภาพ ชุด มอญแม่กลอง
มอญแม่กลอง (1): ย้อนอดีตบ้านโป่ง-โพธาราม
มอญแม่กลอง (2): หอไตรฯ-เจดีย์ ทรงรามัญ
มอญแม่กลอง (3): ศิลปะผสมชนชาติ
มอญแม่กลอง (4): เที่ยวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
มอญแม่กลอง (5): จิตรกรรมอันลือเลื่อง
เรียบเรียงและถ่ายภาพ: สาธิต มนัสสุรกุล
เอกสารอ้างอิง
รัมภา สาลิการิน. (2548). จิตรกรรมฝาผนังวัดไทรอารีรักษ์ จ.ราชบุรี “ฉากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า”: ขนบประเพณีทางสังคม. สารนิพนธ์ศิลป ศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.