วัดใหญ่นครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง สร้างขึ้นบนพื้นที่วัดร้างซึ่งสันนิษฐานว่าเก่าแก่ถึงยุคทวารวดี ภายในวัดมีโบสถ์หลังเก่า อายุราว 260 ปี สร้างด้วยศิลปะไทยผสมจีน ด้านหน้ามีเจดีย์ทรงรามัญ
ในการลงพื้นที่เมื่อ 26 กันยายน 2558 เมื่อออกจากวัดโพธิมอญและวัดมะขาม สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำคณะทัศนศึกษาเดินทางต่อไปยังวัดใหญ่นครชุมน์ ตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
วัดใหญ่นครชุมน์ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง เอกสารประวัติวัดของกรมการศาสนา ระบุว่า วัดนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2295 หรือเมื่อราว 260 ปีก่อน อย่างไรก็ดี บางแหล่งว่าวัดนี้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ อาจย้อนไปถึงยุคทวารวดี ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ได้สร้างวัดขึ้นบนพื้นที่วัดร้างเดิม
พระอุโบสถหลังเก่า
ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณี ขนาด 5 ห้อง มีหลังคาตอนเดียว ซ้อน 3 ตับ ซุ้มประตูหน้าต่างทรงบรรพแถลง ด้านสกัดหน้า-หลังก่ออิฐเต็มทั้งผืน
หน้าบันและหน้าบันชั้นลด ประดับลวดลายอิทธิพลจีน เป็นลายดอกพุดตานและรูปหงส์ แต่หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แบบไทยประเพณี
ด้านหน้าพระอุโบสถหลังเก่ามีเจดีย์ทรงมอญ ประดับเจดีย์มุมทั้งสี่มุม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ที่มุมของกำแพงแก้วยังมีเจดีย์มุมประกอบทั้งสี่มุมด้วย
หลวงพ่อพญาแล-พระนอน ตะแคงซ้าย
บนวิหารซึ่งสร้างบนฐานเจดีย์ที่สร้างไม่เสร็จ (สันนิษฐานว่า หากสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเจดีย์มอญที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ประดิษฐานพระพุทธรูปทองเหลือง มีนามว่า หลวงพ่อพญาแล ซึ่งได้มาจากวัดตองปุ ซึ่งเป็นวัดมอญ (วัดชนะสงคราม บางลำพู)
หลวงพ่อพญาแลเป็นศิลปะแบบรามัญ ปางโปรดอุบาสกชาวมอญ 2 นาย ซึ่งเป็นพ่อค้าจากสุวรรณภูมิ มีชื่อว่า ตปุสสะกับภัทลิกะ หรือที่ชาวมอญเรียกว่า ตะเปาว-ตะโป้ ถือเป็นอุบาสก 2 คนแรกของพุทธศาสนา ทั้งสองได้ถวายข้าวแด่พุทธองค์ ก่อนทูลลาได้ทูลขอเส้นพระเกษา พระองค์จึงประทานให้ 8 เส้น อันหมายถึงมรรคมีองค์แปด
ด้านหลังหลวงพ่อพญาแลเป็นพระนอน สร้างตามตำนานพระราหูของชาวมอญ ลักษณะเด่นคือองค์พระนอนตะแคงซ้าย.
ติดตามสารคดีภาพ ชุด มอญแม่กลอง
มอญแม่กลอง (1): ย้อนอดีตบ้านโป่ง-โพธาราม
มอญแม่กลอง (2): หอไตรฯ-เจดีย์ ทรงรามัญ
มอญแม่กลอง (4): เที่ยวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
มอญแม่กลอง (5): จิตรกรรมอันลือเลื่อง
มอญแม่กลอง (6-ตอนจบ): ภาพถวายพระเพลิงฯ
เรียบเรียงและถ่ายภาพ: สาธิต มนัสสุรกุล
เอกสารอ้างอิง
ปริมประภา แก้วละเอียด. (2551). การศึกษาวิเคราะห์หลักฐานประวัติศาสตร์ของชุมชนบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง กรณีอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี. การค้นคว้า อิสระอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรุงเทพฯ.