ไม่พบผลการค้นหา
อย.เตือนภัยผู้บริโภค ! อย่าหลงเชื่อโฆษณา 'ยาร่วมหว่านหัวใหญ่ สมุนไพรประดง 109' อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค

อย.เตือนภัยผู้บริโภค ! อย่าหลงเชื่อโฆษณา 'ยาร่วมหว่านหัวใหญ่ สมุนไพรประดง 109' อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค

อย.เตือนภัยผู้บริโภค ระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณา “ยาร่วมหว่านหัวใหญ่ สมุนไพรประดง 109” อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค ขายแพร่หลายตามแหล่งต่าง ๆ ในต่างจังหวัด พบฉลากปลอม และไม่พบสถานที่ผลิตตามที่ระบุบนฉลาก ระวังอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อยามารับประทาน เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยา ทั้งเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็นซ้ำร้ายอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ยาแผนโบราณ ชื่อ “ยาร่วมหว่านหัวใหญ่ สมุนไพรประดง 109” ซึ่งฉลากระบุ ใบอนุญาตเลขที่ บ.ภ.2480/2553 สถานที่ผลิตอยู่ที่วัดถ้ำไซย้อย บ้านหล่ม ต.บ้านหล่ม อ.ดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา มีหลวงพ่อแก้ว ธรรมโล เป็นผู้ปรุงยา นั้น ในประเด็นดังกล่าวนี้ อย. เคยได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วหลายครั้ง และได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่ายาดังกล่าวไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ และได้ประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา เพื่อตรวจสอบสถานที่ผลิตยา พบว่า ต.บ้านหล่ม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ไม่มีชื่อ “วัดถ้ำไซย้อย” และหลวงพ่อแก้ว ธรรมโล ผู้ปรุงยา ตามที่ระบุบนฉลาก

นอกจากนี้ ฉลากยังระบุรายละเอียดสรรพคุณยา ใช้รักษาโรคประดงเรื้อรัง โรคเศรษฐี เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดเส้น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้อ มึนชา โรคเลือดทำพิษ ตกใจง่าย หัวใจสั่น วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย สายตาสั้น ผดผื่นคันตามร่ายกาย เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยกินข้าวได้นอนหลับดี ยานี้ถ้าผู้ป่วยได้กินตั้งแต่ 100 เม็ดขึ้นไป จะเป็นยาอายุวัฒนะ ถ้าเป็นมากให้กินมาก เป็นต้น ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอเตือนภัยผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่าเป็นฉลากปลอม ไม่พบสถานที่ผลิต และชื่อผู้ผลิตบนฉลาก ระวังอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อซื้อยามารับประทาน เพราะอาจได้รับอันตรายจากการใช้ยา ทั้งเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็น ซ้ำร้ายอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ อย.กำลังดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาแหล่งผลิต และ ผู้จำหน่ายรายใหญ่ เพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเข้มงวด มิให้โฆษณาขายยาหลอกลวงผู้บริโภคต่อไป หากผู้บริโภคเลือกซื้อยาแผนโบราณมารับประทาน ขอให้ซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น โดยปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนซื้อยาทุกครั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาขายยาทางอินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ตลาดนัด ตามวัด หรือรถเร่ขายตามที่ต่าง ๆ เพราะ อย. ไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาขายยาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ยาที่มีการโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงผู้บริโภค ก่อนซื้อยาแผนโบราณให้สังเกตบนฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว โดยทะเบียนยาแผนโบราณกรณีที่ผลิตในประเทศ ฉลากต้องระบุตัวอักษร G ตามด้วยลำดับที่  ปี พ.ศ. สองหลักสุดท้าย และมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ฉลากระบุ อาทิ ชื่อผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต เลขที่หรือครั้งที่ผลิต ปริมาณยาที่บรรจุ เป็นต้น อย่าซื้อยาเพียงเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อ หรือ พูดกันปากต่อปากว่าใช้แล้วได้ผล

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ พบเห็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบเห็นการกระทำความผิดนั้น 

 

 

เตือนภัย ! อย่าหลงเชื่อโฆษณา “ยาร่วมหว่านหัวใหญ่ สมุนไพรประดง 109” อวดอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค อย.เตือนภัยผู้บริโภค ระ...

Posted by Fda Thai on 23 กันยายน 2015

 

ที่มา :  FDA  THAI

ที่มาภาพ : tumdee.org

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog