พรมวิเศษไม่ได้มีแต่ในเทปนิยาย ในอินเดีย นวัตกรรมพรมอัจฉริยะ ทำให้การนับจำนวนผู้เข้าร่วมเทศกาลที่มีคนร่วมงานมหาศาล ทำได้ง่ายดายขึ้น
พรมเช็ดเท้าอันแสนธรรมดาผืนนี้ หน้าตาเหมือนกับพรมในบ้านคนนับล้านทั่วโลก แต่นี่คือพรมวิเศษ ที่ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการเหยียบกันตายในงานเทศกาลที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลกอย่างกุมภเมลา เทศกาลศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียที่มีผู้เข้าร่วมนับร้อยล้านคน
พรมเช็ดเท้าอัจฉริยะนี้เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับงานกุมภเมลา ที่ปีนี้จัดขึ้นที่เมืองนาสิก ในรัฐมหาราษฏระของอินเดีย มันทำหน้าที่นับจำนวนผู้ที่เหยียบย่ำลงบนผืนพรม และรายงานจำนวนผู้คนที่เดินผ่านจุดนั้นให้เจ้าหน้าที่ได้รับรู้แบบเรียลไทม์
การรับรู้จำนวนคนที่อยู่ในสถานที่ประกอบพิธีกุมภเมลาแบบเรียลไทม์ สำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันการเหยียบกันตาย ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอในงานพิธีทาศาสนาที่คนแออัดกันเป็นจำนวนมากในอินเดีย พรมเหล่านี้จะถูกติดตั้งตามทางเดินของวัดต่างๆใกล้กับจุดที่ประชาชนจะไปบวงสรวงและลงอาบน้ำชำระบาป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ทันท่วงทีว่าจุดไหนมีคนเยอะเกินไป และจะได้ส่งคนเข้าไปดูแลคลี่คลายสถานการณ์ ก่อนที่จะเกิดการแออัดจนเป็นอันตรายต่อผู้เข้าร่วมพิธี
ที่น่าภาคภูมิใจก็คือ แม้เจ้าพรมวิเศษนี้ จะมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Step Tracker แต่มันเป็นผลงานของนักวิจัยชาวอินเดียวัยเพียง 15 ปี นิเลย์ กุลการ์นี ที่ทำงานร่วมกับทีมจาก MIT ภายใต้โครงการกุมภาธอน ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่มีจุดประสงค์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาต่างๆในงานใหญ่ระดับโลกอย่างกุมภเมลา ซึ่งผลงานของทีมกุมภาธอน ทำให้มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ทั้งสะดวกสบายและปลอดภัยกว่าเดิมหลายเท่า