ไม่พบผลการค้นหา
เปิดใจฟัง “พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ” หรือ “คุณต้น” กรรมการบริหารบริษัท สาธรยูนีค จำกัด เจ้าของตึกสูงที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ พูดคุยทำความเข้าใจทำไมต้องแจ้งความในข้อหาบุกรุก

เปิดใจฟัง “พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ” หรือ “คุณต้น” กรรมการบริหารบริษัท สาธรยูนีค จำกัด เจ้าของตึกสูงที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ พูดคุยทำความเข้าใจทำไมต้องแจ้งความในข้อหาบุกรุก


“สาทรยูนีค” ตึกสวยตระหง่านแม้จะเป็นตึกร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จ ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าตากสิน หลายคนคงเคยยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ถ่ายภาพตึกนี้เมื่อผ่านพบในย่านนั้นและคงไม่มีนักท่องเว็บคนไหนไม่เคยเห็นภาพวิวสวยมุมสูงที่ถ่ายจากตึกนี้ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ ด้วยความที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในตึก ทำให้ช่างภาพหลายคนหลงใหล อดใจไม่ได้ที่จะชวนกันขึ้นไปชมวิวถ่ายภาพทั้งภายนอกและภายในตึก โดยไม่ได้คำนึงว่า การเดินขึ้นตึกดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของตึกโดยตรง อาจถูกแจ้งความข้อหาบุกรุกได้ 


เปิดใจฟัง “พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ” หรือ “คุณต้น” กรรมการบริหารบริษัท สาธรยูนีค จำกัด เจ้าของตึกสูงที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ พูดคุยทำความเข้าใจทำไมต้องแจ้งความในข้อหาบุกรุก 

 

 

ทำไมจึงตัดสินใจถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ขึ้นไปบนตึกสาธรยูนีค ทั้งที่เขาอาจเพียงแค่ต้องการไปถ่ายภาพวิวสวยๆ และสถาปัตยกรรมงดงามของตึก


ตึกสาธรยูนีค สร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ สร้างไปเพียง 90%  ได้รับใบอนุญาตตกแต่งจากสำนักงานโยธากรุงเทพฯ ยังไม่ได้เปิดใช้เป็นการทั่วไป ผู้ที่จะขึ้นไปได้ ต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรือได้รับอนุญาตเท่านั้น เพราะฉะนั้นโครงการนี้มีเจ้าของกรรมสิทธิ์ คือบริษัท สาธรยูนีค จำกัด และบริษัทไม่สามารถให้คนทั่วไปมาใช้พื้นที่ได้ ที่สำคัญมีบางพื้นที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ 


ความจริงการที่มีคนนอกขึ้นไปบนตึกเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่มาก ตอนแรกเริ่มจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งอยู่ในบริเวณบางรักจำนวนหนึ่ง แวะเวียนเข้าไปถามยามรักษาความปลอดภัยที่เฝ้าตึก เริ่มจากนักท่องเที่ยวไม่กี่คนขอขึ้นไปข้างบนแล้วจ่ายค่าตอบแทนให้ยาม ทางผมได้เปลี่ยนยามไปหลายชุดแล้วเพราะยามรับสินบน จากนั้น มีการเผยแพร่ภาพนิ่งถ่ายและภาพเคลื่อนไหวทางอินเตอร์เน็ตไปทั่วโลก ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะนับแต่ต้นปี 2558 มีการนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์ มีกลุ่มช่างภาพขึ้นไปด้วย จนกระทั่งเจ้าของโครงการต้องล้อมรั้ว โดยก่อนที่ตึกจะมีชื่อเสียงในหมู่คนที่ชอบถ่ายภาพ ก็มีปัญหาเรื่องคนเข้าไปขโมยเหล็กมากมาย พอล้อมรั้วก็ยังมีคนปีนรั้วเข้าไปและให้สินบนแก่ยามอีก ล่าสุดยังมีคนงัดประตูเหล็กเข้าไปด้วย

 

 

 


ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม มีคนขึ้นไปบนตึกทีละเป็นร้อยคน เป็นกรุ๊ปทัวร์จากต่างประเทศก็มี แต่เนื่องจากมีการห้ามขึ้นตึก บางคนไม่พอใจที่ไม่ได้ขึ้นตึกก็กลับไปเขียนด่าลงเว็บไซต์ว่า ตัวเองเสียค่าเครื่องบินมาแล้ว เจ้าของตึกมีสิทธิ์อะไรไม่ให้ขึ้นตึก 

ปัญหาคือ เมื่อคนขึ้นไปแล้ว มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงสูงมาก ซึ่งการที่เจ้าของตึกจะไปพูดคุยไปเฝ้าตึกด้วยตัวเองเพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้ขึ้นตึกนั้น เป็นไปไม่ได้  เจ้าของตึกไม่สามารถไปสื่อสารให้ทุกคนทราบ และไม่สามารถไปนั่งเฝ้าตึกไม่ให้ยามรับสินบนหัวละ 200 วันละ 100 คน โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ไปกันเกินร้อย เป็นไปไม่ได้ที่จะไปเฝ้า จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยการแจ้งความคดีบุกรุก เพื่อสื่อสารไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์ค ให้เห็นว่า เจ้าของตึก ดำเนินการจริง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บเงินค่าขึ้นตึก 

 

แจ้งความดำเนินคดีไปกี่รายแล้ว

ล่าสุดแจ้งความไปทั้งหมด 4 ราย 5 คน มีฝรั่ง ที่มาด้วยกัน 2 คน ถ่ายคลิปกระโดดตีลังกากลับหลังบนยอดตึก จึงได้แจ้งความฝรั่ง 2 คนนี้ ที่สน.ยานนาวาด้วย เมื่อเดือน เม.ย.58 โดยตอนนั้นต้องการที่จะสื่อว่า สาเหตุที่ดำเนินคดีเพราะไม่ต้องการให้ใครขึ้นไปเท่านั้น  ไม่ประสงค์จะดำเนินเนินคดีอาญากับใครโดยเฉพาะคนไทยซึ่งต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน แต่เมื่อหลังคลิปฝรั่งเผยแพร่ออกไป กลับมีคนไทยและต่างประเทศ แห่กันขึ้นมามากกว่าเดิมต่อเนื่องหลายเท่า
 
การเปลี่ยนยามไม่ช่วยอะไรอีกต่อไป ทุกคนพร้อมจะรับเงินหมด จนกระทั่ง ผมไม่มีทางเลือก ทั้งนี้ มีผู้ปรารถนาดีที่ไม่รู้จักส่วนตัว ซึ่งอยู่ในวงการช่างถ่ายภาพและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่งภาพจากอินเตอร์เน็ตหลายรูปมาให้ผม เขาบอกว่า ถ้าผมไม่ดำเนินการอะไร คนอื่นจะเข้าใจว่าผมขายตั๋วให้คนอื่นขึ้นไป เพราะยามอ้างกับนักท่องเที่ยวอย่างนั้น 

ผมจึงเลือกรูปบางรูปบางรูปที่ได้รับมาจากผู้ปรารถนาดี นำไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยแจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุก และนำสำเนาใบแจ้งความไปปิดที่หน้าอาหารเพื่อสื่อสารถึงคนที่เหลือ ให้ทราบว่าอาคารนี้ห้ามเข้า หากละเมิดจะถูกดำเนินคดีอาญา  อีกนัยหนึ่งก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ในการกระทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าผมได้รับ ผู้ถูกดำเนินคดี ก็สามารถดำเนินคดีกลับได้ ในข้อหาแจ้งความเท็จ 

ส่วนคนไทย 2 คนที่ถูกแจ้งความ ผมเลือกจากรูปที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต อีกคนเป็นบล็อกเกอร์รีวิวชวนคนไปขึ้นตึก เหตุที่เลือกคนนี้ เพราะเขาเป็นสื่อ เขาสามารถใช้เครือข่ายสื่อสารไปคนจำนวนมากกว่า และคาดว่า กระทู้ในเว็บไซต์พันทิป ก็สื่อสารไปจากเขา 
 
สำหรับป้ายโฆษณาที่เห็นติดบนตึก มีการติดต่อมาและการจ่ายค่าตอบแทน นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลตึก ช่วง 2-3 ปีหลัง

 

 

 

คิดอย่างไรตึกสาธรยูนีค เป็นแลนด์มาร์คสำคัญสำหรับผู้รักการถ่ายภาพ มีภาพมุมสวยๆ อลังการมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต 

คิดว่าเป็นความบังเอิญ ซึ่งที่ตั้ง อยู่คุ้งน้ำโอบรอบอาคารค่อนข้างกว้าง และอาคารนี้ ก็ออกแบบให้แต่ละยูนิตเปิดรับมุมมองของคุ้งน้ำ 180 องศา เป็นเพียงความบังเอิญที่ได้มาตั้งอยู่ตรงนี้ ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจจะสวยงามกว่าดาดฟ้าตึกอื่นที่สูงกว่าตึกนี้ด้วยซ้ำ เพราะได้ทราบมาว่า มีการจ่ายค่าสินบนให้กับยาม ในอัตราใกล้เคียงกับการขึ้นลิฟท์ ไปซื้อดริงค์ดื่มชมวิวบนดาดฟ้าของโรงแรมหรูในละแวกใกล้เคียง

 

มุมถ่ายภาพภายในตึกก็สวยงามอลังการแม้ว่ายังสร้างไม่เสร็จ คุณพรรษิษฐ์เคยเห็นภาพที่คนเข้าไปถ่ายหรือไม่ และคิดอย่างไร

เคยเห็นรูป แล้วก็คิดว่าเป็นแค่กระแสของการท่องเที่ยวแนว หรือ adventurous เปรียบเสมือน เด็กอยากไปเที่ยวสวนสนุก ซึ่งผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไม
 
 

บริบทสังคม ช่วงที่สร้างตึกสาธรยูนีคเป็นอย่างไร

พ.ร.บ.อาคารชุด มีใช้ครั้งแรก เมื่อปี 2522 หลังมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว คอนโดมิเนียมก็ยังไม่เป็นที่นิยม และมักจะมีการพูดกันว่า ซื้ออากาศมีโฉนดแต่ไม่มีที่ดิน จึงไม่ได้รับความนิยมเท่ากับทาวเฮาส์ หรือตึกแถว แล้วสังคมเมืองก็ค่อยๆ มีวิวัฒนาการ จนกระทั่งมาถึงยุคฟองสบู่ ซึ่งมี การลงทุนในประเทศ ค่อนข้างเยอะ มีความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองเพิ่มมากขึ้น คอนโด จึงเป็นที่นิยม เพราะดูแลรักษาง่าย มีคนดูแลส่วนกลาง 

หลังปี 2530 คือยุคทอง ของคอนโดมิเนียมอาคารสูง ซึ่ง โครงการสาธรยูนีค ก็เป็นหนึ่งในโครงการคอนโดมิเนียมเรือธง ซึ่งเป็นที่รู้จักในยุคนั้น มีลูกค้าเป็นคนไทยชั้นกลางระดับบนจำนวนมาก และคนต่างชาติจำนวนไม่น้อย ทั้งจาก อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกัน 
ย่านนั้น เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี โดยเฉพาะ สุรวงศ์ มเหศักดิ์ มีลูกค้าซึ่งเป็นคนค้าขายอัญมณีเยอะ สาธรยูนีคเป็นตึกพี่ตึกน้องกับตึกสเตททาวเวอร์ หรือ สีลมพรีเชียสทาวเวอร์  แต่สาทรยูนีค เน้นความเป็นที่อยู่อาศัย ขณะที่อีกตึกหนึ่งเป็นตึกกึ่งที่อยู่อาศัยกึ่งธุรกิจ

 

สาเหตุที่ตึกถูกปล่อยร้างทั้งที่สร้างเสร็จไปแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์  

ตึกนี้สร้างไม่เสร็จเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 โครงการนี้เกิดในปี 2533 และชะงักช่วงเวลาหนึ่งในปี 2536 เพราะตอนนั้นคุณพ่อ(อาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ) ถูกกล่าวหาในคดีอาญาซึ่งล่าสุดคดีดังกล่าวศาลยกฟ้องไปแล้ว  แต่ในตอนนั้นปัญหาในการสร้างตึกก็ไม่ใช่ปัญหามีคดีอาญา เพราะเมื่อศาลให้ประกันตัว สถาบันการเงินก็ปล่อยเงินงวดที่กู้ออกมาต่อเนื่อง สามารถสร้างตึกต่อไปได้ 

ปัญหาจริงๆ ที่ตึกไม่สามารถสร้างต่อได้ เพราะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรัฐบาลไทย ปิดสถาบันการเงินไป 56 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแมกซ์ ซึ่งปล่อยกู้โครงการนี้ถูกปิดไปด้วย 
 
องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือปรส. ซึ่งถูกตั้งขึ้นมุ่งหมายเพื่อหยุดยั้งความเสียหายทางการเงินของประเทศ แต่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้ง ปรส. ไม่กี่เดือนก็ออก ไป และมีผู้บริหารชุดใหม่ เข้ามาสั่งปิด 56 ไฟแนนซ์ 

“ตึกสาธรยูนีค ซึ่งเป็นหนี้ดี กลับถูกนำไปรวมอยู่กับหนี้เสีย” ความเป็นจริงคือ รัฐบาลต้องลดความเสียหายให้น้อยที่สุด แต่ รัฐบาลกลับไม่ได้ดำเนินการตามปรัชญาที่ต้องลดความเสียหาย ยังทำผิดกฎหมาย ปรส. ซึ่งควรจะต้องดำเนินการชำระบัญชี เพื่อแยกหนี้ดีและหนี้เสียซึ่งมีความแตกต่างกัน หนี้ดี คือ ลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ คืนเงินกู้พร้อมดอกได้ เหมือนกู้แบงก์ธรรมดา รัฐบาลต้องสนับสนุน 

ส่วนหนี้เสีย รัฐบาลต้องไปเจรจา ให้ความเสียหายน้อยสุด แต่ ปรส.ไม่ได้ทำอย่างนั้น กลับรวมหนี้ดีและหนี้เสีย มาใส่เข่งเดียวกัน แบ่งเป็นหลายเข่ง แล้วแบ่งขายให้กับกองทุนทั้งต่างชาติและในประเทศ ในอัตราลดราคาเหลือไม่ถึง 20 % ของมูลค่าตามบัญชี เช่น สมมุติทรัพย์สิน 100 บาทอาจจะนำไปขายไม่ถึง 20 บาท 

 

ทางออกที่เป็นไปได้ที่จะจัดการกับตึกนี้มีหลายทาง สุดท้ายทำไมจึงต้องการเลือกวิธีที่คำนึงถึงการคืนเงินให้ลูกค้าในราคาที่เหมาะสม

เจ้าของโครงการมีทางออกที่จะจัดการได้หลายทาง แม้บางวิธีจะถูกกฎหมาย แต่ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาการเยียวยาผู้ร่วมลงทุน ซึ่งจ่ายเงินดาวน์จองซื้อห้องชุด เงินของเขาได้ลงสู่การก่อสร้างไปหมดแล้ว เหตุที่พูดเช่นนี้ เนื่องจากระบบการจัดการปัญหา ทั้งในกระบวนการยุติธรรมและในทางธุรกิจมันไม่เอื้อต่อการขายทรัพย์สินชิ้นนี้ให้ได้เงินมากพอที่จะเยียวยาทุกฝ่ายได้อย่างเป็นธรรม 

กระบวนการตามกฎหมายกลับเอื้อให้เกิดการกดมูลค่าหนี้ของรายเล็กรายน้อยลง โดยเอื้อต่อเจ้าหนี้รายใหญ่เท่านั้น ซึ่งกระบวนการนี้ทำกับโครงการลักษณะนี้จำนวนมาก เปรียบเทียบคือผู้จองซื้อห้องชุดจ่ายเงินไปแล้ว 100บา ได้คืน ได้คืนแค่ 5 บาท 

สมัยก่อนจองซื้อในราคาตลาดสมัยนั้น ซึ่งต่ำกว่าตอนนี้มาก คือในราคา 25,000 บาทต่อตารางเมตร รายรับที่บริษัทจะได้อีก 600 ล้านหลังจากก่อสร้างเสร็จและโอนห้องชุดทั้งหมด แต่ราคาค่าก่อสร้างขณะนี้ ทะลุมากกว่าพันกว่าล้านที่จะสร้างให้เสร็จ ทางออกจึงจำเป็นจำเป็นต้องขายที่ดินและอาคารให้กับนักลงทุนรายใหม่ แล้วเอาเงินมาแบ่งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ลูกค้าโครงการในราคาที่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นแนวทางที่มีคนสนใจ แต่ดีลได้ไม่ง่ายนัก เพราะเจ้าหนี้จำนอง คือกองทุน ยังคงเรียกดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน 
ดอกเบี้ยไม่นิ่งไม่มีการลด ผู้ซื้อไม่มั่นใจว่า จำนวนเงินที่จะซื้ออาคารและที่ดินจะสามารถจบดีลได้  

ที่สำคัญเป็นความมุ่งหมายของคุณพ่อ ที่ต้องการขายตึกในราคาที่สามารถนำมาจ่ายลูกค้าที่เสียหายคืนได้อย่างเป็นธรรม 

 

สิ่งที่จะบอกคนที่อยากขึ้นไปถ่ายรูปบนตึกสาธรยูนีคคืออะไร 

ขอร้อง อย่าขึ้นไปเลยครับ ปัญหาผมเยอะอยู่แล้ว ผมคงไปนอนเฝ้าตึกไม่ได้ และไม่อยากดำเนินคดีกับใครอีก 

 

สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog