ไม่พบผลการค้นหา

จากพฤติกรรมเลียนแบบ การจุดไฟเผาร่างกายประท้วงผู้นำประเทศในหมู่ชาวอาหรับ นักวิเคราะห์เชื่อว่าไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

 

เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ที่นายโมฮัมเหม็ด บูอาซีซี่ พ่อค้าขายผักผลไม้ชาวตูนีเซียจุดไฟเผาตัวเอง ประท้วงผู้นำประเทศ หลังถูกตำรวจยึดแผงขายผัก ลุกลาม เป็นการรวมตัวประท้วงคณะรัฐบาลครั้งใหญ่ของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคนยากจน จนส่งผลให้ประธานาธิบดีเบน อาลี ที่บริหารประเทศมานานกว่า 23 ปี ถูกขับไล่ออกจากประเทศ

นอกจากเป็นหนึ่งในชนวนขับไล่ผู้นำประเทศ  การตัดสินใจของเขา ที่เสียชีวิตหลังเกิดเหตุ1 สัปดาห์  กลายไปเป็นพฤติกรรมต้นแบบการประท้วงรัฐบาล ในกลุ่มประเทศโลกอาหรับ

ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีประชาชนพยายามก่อเหตุจุดไฟเผาตัวเองในที่สาธารณะถึง 10 ราย ทั้งใน แอลจีเรีย อียิปต์ เยเมน และมอริเตเนีย เนื่องมาจากสภาพปัญหาสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างมองว่า สาเหตุที่เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ อาจเป็นเพราะผลสำเร็จในการประท้วงที่ตูนีเซีย   ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง สถานการณ์และบริบทที่ต่างกัน ในแต่ละประเทศ  ย่อมนำมาซึ่งผลสำเร็จที่ไม่เหมือนกัน

และเชื่อกันว่าทางออกที่แท้จริง คือการรวมตัวชุมนุมเรียกร้องของมวลชนอย่างสันติวิธี เพื่อกดดันให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจแก้ไขปัญหา มากกว่าการเสียสละชีวิตของ 'ตัวเอง' หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง เนื่องจากไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้น ที่จะยืนยันได้ว่า เมื่อเกิดความ 'สูญเสีย' แล้วจะเกิดการ 'เปลี่ยนแปลง'

อย่างไรก็ตาม การประท้วงโดยพยายามจุดไฟเผาตัวเอง หรือที่เรียกว่า เซลฟ์ อิมโมเลชั่น นั้น ไม่ได้พึ่งเคยเกิดขึ้นในกรณีของพ่อค้าชาวตูนีเซียเป็นคนแรก หรือเป็นเพียงวัฒนธรรมการก่อความไม่สงบของชาวอาหรับ

เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ทั้งในประเทศจีน ปากีสถาน รวมถึงเกาหลีใต้ และถ้าย้อนกลับไปในอดีต ทั้งเวียดนาม และประชาชนในสหภาพโซเวียต ก็เคยมีการจุดไฟเผาตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจจากทางคณะผู้ปกครองเช่นกัน

 

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog