ไม่พบผลการค้นหา
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้มีการก่อสร้าง"อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้มีการก่อสร้าง"อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย"ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง

 

ใจกลางถนนสายประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ว่าราชดำเนินจะผ่านร้อนหนาวมากี่ยุคสมัย  แต่"อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ยังคงตั้งตระหง่านเตือนให้คนไทยรำลึกถึงการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดครั้งแรกของประเทศ

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนา 2475 คณะราษฎรเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  7 ปีหลังจากนั้น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงมีดำริให้สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น โดยถือฤกษ์ก่อสร้าง 24 มิถุนา 2482 ซึ่งเป็นวันชาติไทย ใช้เวลาเกือบ 1 ปี อนุสาวรีย์ก็แล้วเสร็จโดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2483 



สถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ควบคุมการก่อสร้าง และสิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้น แต่ละส่วนของอนุสาวรีย์ล้วนมีความหมาย ปีกทั้ง 4 ด้าน หมายถึง บุคคล 4 เหล่าในคณะราษฎร ได้แก่ ทหาร ตำรวจ พ่อค้าและประชาชน แต่ละปีกสูง 24 เมตร ซึ่งหมายถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และฐานของปีก 8 ด้าน มีภาพปั้นนูนสูงแสดงประวัติความเป็นมาของคณะราษฎร ขณะที่อ่างน้ำซึ่งรับน้ำจากงูใหญ่ หมายถึงปีมะโรงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง 



พานรัฐธรรมนูญสูง 3 เมตร หมายถึงเดือนที่ 3 แห่งปี คือมิถุนายน ซึ่งตอนนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเริ่มปีใหม่ และหมายถึงอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ



ปืนใหญ่ที่ปากกระบอกปืนฝังลงดินจำนวน 75 กระบอก หมายถึงปี พ.ศ.ที่มีการปฏิวัติ ร้อยติดกันด้วยโซ่เหล็ก อันหมายถึงความสามัคคีของคณะราษฎร  ส่วนพระขรรค์ที่ประตูทั้ง 6 เล่ม หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรในการบริหารประเทศ



แม้อนุสาวรีย์แห่งนี้จะบ่งบอกว่าไทยเป็นประชาธิปไตย แต่ตลอด 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาธิปไตยยังไม่เต็มใบ จึงมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  พฤษภาทมิฬ 2535 และล่าสุด คือการชุมนุมครั้งใหญ่ของ นปช. เมื่อปี 2553 ทุกเหตุการณ์ล้วนมีผู้ต้องหลั่งเลือดเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย



วันนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเปลี่ยนไป เพราะมักจะมีประชาชนกลุ่มต่างๆใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกซึ่งอุดมการณ์ทางการเมือง สถานที่แห่งนี้ จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของหลายๆอย่าง ที่สำคัญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังถูกกำหนดให้เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนทางหลวงสายประธาน 3 สาย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม 



ในทางคมนาคม "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่นำผู้คนไปสู่จุดหมายปลายทาง ในทำนองเดียวกัน ก็เป็นเหมือนหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประชาธิปไตย แม้วันนี้คนไทยจะยังไปไม่ถึงปลายทาง แต่ก็เรียกได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นที่นี่ ถนนสายประชาธิปไตยทอดไกลออกไปทุกครั้ง ดังนั้น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าที่สุดแห่งหนึ่งของคนไทย

 

Produced by Voice TV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog