นายมนตรี ยอดปัญญา ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และติดเชื้อในกระแสเลือด ญาติเตรียมนำศพไปตั้งสวดพระอภิธรรมที่วัดเบญจมบพิตร
เมื่อวานนี้ (26 พ.ย.54) เวลา 21.15 น. นายมนตรี ยอดปัญญา ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากที่เข้ารับการรักษาอาการป่วย นาน 2 สัปดาห์ โดยแพทย์ระบุการถึงแก่อสัญกรรมว่า เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน และมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยทางญาติเตรียมนำศพไปตั้งสวดพระอภิธรรมที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ
สำหรับ นายมนตรี ปัจจุบันอายุ 63 ปี และจะมีวาระดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา 2 ปี โดยจะไปเกษียณอายุราชการในปี 2556 จบการศึกษาประถมศึกษา โรงเรียนเทศบาล 1 (พะเยาประชานุกูล) มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนพะเยาพิทยาคม พ.ศ.2503-2508 มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร พ.ศ.2509 มัธยมปีที่ 4-5 โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ พ.ศ.2511 คณะนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2516 เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา รุ่นที่ 27 พ.ศ.2516
ประวัติรับราชการ เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยทำงานผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่งธนบุรี ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และรองประธานศาลฎีกา
ผลงานด้านวิชาการ เป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ม.กรุงเทพ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ม.รังสิต ประธานกรรมการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วย ผู้พิพากษาทั้งสนามใหญ่และสนามเล็ก ผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2549
เคยเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเสนาะ เทียนทอง อดีต รมว.มหาดไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 คดีทุจริตที่ดินอัลไพน์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อปี 2553
รวมถึงยังเป็นองค์คณะพิจารณาคำร้องที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องให้ศาลฎีกา ตั้งองค์คณะพิจารณาถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งคณะออกจากตำแหน่ง กรณีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ชี้มูลความผิดการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดล้อมหน้าอาคารรัฐสภา มิชอบด้วยกฎหมาย ผิดวินัยร้ายแรง และกรณีมีมติไล่นายตำรวจออกจากราชการ
ทั้งนี้ นายมนตรี ได้รับการยอมรับจากผู้พิพากษาด้วยกันว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นอย่างสูง สามารถจดจำฎีกาที่บรรพตุลาการเคยมีคำวินิจฉัยไว้ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเลขที่ฎีกา องค์คณะผู้พิพากษาที่ตัดสิน จนได้ชื่อว่าเป็น "ตู้ฎีกาเคลื่อนที่" และตลอดชีวิตผู้พิพากษากว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในศาลฎีกา
Source : News Center /naewna/MatichonOnline(Image)