ในวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาโปรดให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า 'สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร' และทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย
โดยสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์ที่ 2 คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6) โดยพระอิสริยยศนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และตำแหน่งพระมหาอุปราช ซึ่งใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
พระราชสมภพ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร" เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.
การศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาต่อระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และทรงศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาอักษรศาสตร์ (การศึกษาด้านทหาร) คณะการศึกษาด้านทหาร มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 และทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ.2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2)
พระราชกรณียกิจ
ด้านการบิน
เมื่อปี พ.ศ. 2537 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี และแบบเอฟ-5 เอฟ และเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2550 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737 - 400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพมหานคร - จังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ - กรุงเทพมหานคร)
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1
ในเที่ยวบินพิเศษมหากุศล เส้นทาง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ - กรุงเทพฯ
ด้านการทหาร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด ทรงดำรงพระยศทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตระวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย ซึ้งแม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชาติชายทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง
ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง
ด้านการศึกษา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของ "โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ" โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์"
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล คมนาคมไม่สะดวก กระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา จำนวน 6 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์
อีกทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงอุปการะเด็กกำพร้า คือ จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะทรงอุปการะจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีหรือจนกว่าจะมีอาชีพสามารถเลี้ยงครอบครัวได้
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน
ด้านศาสนา
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า "วชิราลงฺกรโณ" และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ
ด้านการเกษตร
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่นๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่บ้านแหลมสะแก ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2528
ด้านการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดให้ พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ
ด้านสังคมสงเคราะห์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯหลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดเขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เป็นต้น ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติดในหมู่เยาวชนชุมชนแออัดคลองเตย เพื่อให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้นเติบโตเป็นพลเมืองดีและเป็นทรัพยากรบุคคลทีมีคุณค่าในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
ที่มาและภาพประกอบ - wikipedia.org pantip.com ytimg.com palungjit.org coj.go.th crownprince.msu.ac.th