ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' ชี้ความวุ่นวายในประเทศไทย 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากความวุ่นวายทางการเมืองที่ไม่มีตรรกะในวิธีคิด จนเริ่มผิดเพี้ยนกันไปหมด เป็น 'ตรรกะวิบัติ' ที่บิดเบือนได้ค่อนข้างง่าย อาศัยการใส่ร้าย ใส่ความ พูดซ้ำๆ จนทำลายประเทศ ทำลายเศรษฐกิจ แนะหันกลับมาตั้งตรรกะกันใหม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงสีเสื้อ

โดย พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน
          
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่กำลังทำรายงานอยู่ และมาขอสัมภาษณ์เรื่อง ตรรกะวิบัติ โดยนักศึกษากลุ่มนี้ได้เล่าว่าได้ตระเวณสัมภาษณ์ผู้มีชื่อเสียงหลายท่านจากทุกสาขาอาชีพ ทำให้ผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่าเรื่องตรรกะวิบัตินี้ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่และ เป็นปัญหาหลักของประเทศไทยในขณะนี้
          
กว่า 10 ปีแล้ว ที่ความวุ่นวายทางการเมืองฉุดรั้งประเทศไทยให้ถอยหลังจนถึงทุกวันนี้ และต่างฝ่ายต่างก็พยายามหาเหตุผลมาอธิบายข้างๆคูๆ เพื่อสนับสนุนวิธีการของฝ่ายตนจนหลายครั้งไม่มีตรรกะในวิธีคิด จนในระยะหลังๆนี้ตรรกะได้เริ่มผิดเพี้ยนกันไปหมด 
          
ตรรกะทางการเมืองเป็นเรื่องที่บิดเบือนได้ค่อนข้างง่าย อาศัยการใส่ร้าย ใส่ความ พูดซ้ำๆ จนในที่สุด คนจำนวนหนึ่งจะเชื่อเพราะมีใจเอนเอียงที่จะเชื่ออยู่แล้ว แต่บางครั้งก็บิดเบือนจนไม่แน่ใจว่าหากยึดตรรกะอย่างนั้นแล้วประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร คงจะเห็นได้จากการที่มีพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่กลับมาสนับสนุนให้เกิดการทำปฏิวัติรัฐประหาร เพราะเชื่อว่าเลือกตั้งอย่างไรพรรคตัวเองก็ไม่ชนะ  แต่ที่น่าห่วงคือประชาชนจำนวนมากต่างเห็นดีเห็นงานและร่วมประท้วงด้วย จนเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลกว่ามีการประท้วงในประเทศไทยเพื่อไม่ต้องการประชาธิปไตย 

โดยที่คนกลุ่มนี้ไม่ได้มองเห็นเลยว่าอนาคตประเทศจะเดินไปทางไหน สุดท้ายความเสียหายของประเทศก็ปรากฏให้เห็นได้ในปัจจุบัน และยังไม่รู้ว่าความเสียหายจะมีจุดสิ้นสุดอย่างไร ความพยายามอธิบายของกลุ่มคนที่เข้ามายึดอำนาจโดยอ้างว่าเพราะมีคนสองกลุ่มทะเลาะกัน จึงมีความจำเป็นต้องเข้ามา แต่ไม่ได้มองว่าหากคนกลุ่มนี้จะดำเนินการเรียกปรับทัศนคติของพวกผู้นำกลุ่มที่ประท้วงไม่เอาประชาธิปไตย จะสามารถแก้ปัญหาได้เหมือนกับตอนนี้หรือไม่ และความเสียหายของประเทศจะน้อยกว่าหรือไม่ 

ตรรกะวิบัติที่ร้ายแรงหนักเข้าไปอีกกับกลุ่มคนที่ยังคิดว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชน เป็นความคิดที่ผิด ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกในประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย จนกลายเป็นว่าคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเรียกไปเรื่อยๆไม่มีเหตุผล โดยหารู้ไม่ว่าการไม่มีประชาธิปไตยได้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนถึงกับไปอ้างความเจริญของประเทศจีนและประเทศเมียนมาร์ โดยไม่ได้มองว่าทั้งสองประเทศมีการพัฒนาทางประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้น ไม่ได้ก้าวถอยหลังเหมือนประเทศไทย อีกทั้งสาเหตุที่สองประเทศนี้เจริญขึ้นก็เพราะการหันกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้มากขึ้น หากประเทศจีนยังเป็นระบอบคอมมิวนิสต์สมบูรณ์แบบ เศรษฐกิจจีนก็คงไม่ก้าวหน้าถึงขนาดนี้  
          
ไม่ใช่แต่เฉพาะตรรกะทางการเมืองเท่านั้นที่ผิดเพี้ยน แม้แต่ตรรกะทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองก็ถูกบิดเบือนไปด้วย แต่ตรรกะทางเศรษฐกิจจะบิดเบือนได้ยาก เนื่องเพราะเศรษฐกิจคือเงินในกระเป๋า ดังนั้นการมีเงินในกระเป๋าหรือไม่มีเงินในกระเป๋าไม่สามารถจะบิดพริ้วได้ สภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดขีดในปัจจุบัน ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามาจากผลทางการเมือง ตรรกะง่ายๆคือประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเล็กและเปิด การพึ่งพาต่างประเทศมีสูง ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ หากต่างประเทศไม่ยอมรับ ก็เป็นไปไม่ได้เลยว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ และก็มีตรรกะแปลกๆที่บอกว่าประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ โดยสามารถอยู่เองได้ คนที่พูดคงไม่ได้มองย้อนไปดูเมียนมาร์เมื่อหลายปีก่อนที่ยังปิดประเทศอยู่ และต้องพึ่งตัวเอง จะได้เห็นว่าประเทศชาติล้าหลังขนาดไหน ความเป็นอยู่ของประชาชนเดือดร้อนเพียงใด แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันอย่างอิหร่านเองยังต้องประกาศว่า อิหร่านไม่สามารถที่จะอยู่ด้วยตัวเองได้ และต้องพึ่งพากับต่างประเทศ 
          
จริงอยู่แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างของไทยเช่น การส่งออก และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง จะมีปัญหามาจากรัฐบาลก่อนๆแล้ว แต่การที่มีรัฐบาลที่ไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยยิ่งทำให้ปัญหาการส่งออกและปัญหาการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญคือ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ถ้าหากไม่กลับสู่ระบอบประชาธิปไตย 

ดังนั้นต่อให้เอาคนเก่งๆมาบริหารก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้  แต่เมื่อนำคนที่ไม่มีผลงานจนประชาชนไม่เชื่อถืออีกแล้วมาบริหาร เศรษฐกิจก็ยิ่งจะฟุบไปกันใหญ่ ดังนั้นแนวคิดที่จะจัดรัฐบาลแห่งชาติจึงไม่เกิดประโยชน์ หากยังไม่กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
          
ตรรกะในเรื่องการช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องดำเนินการ เพราะประเทศจะไม่สามารถพัฒนาไปได้ถ้าคนส่วนใหญ่ยังจนและลำบากอยู่ หากไปบอกว่าการช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยเป็นประชานิยมที่น่ารังเกียจ แล้วไม่ช่วยเลย คนมีรายได้น้อยก็จะลำบาก และประเทศก็ไม่สามารถจะก้าวหน้าขึ้นไปได้ ดังนั้นแนวคิดที่จะไม่ช่วยเหลือชาวนา และเกษตกร แนวคิดที่จะยกเลิกรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แม้กระทั่งแนวคิดที่จะเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค จึงเป็นแนวคิดที่ผิดตรรกะอย่างมาก 
          
ตรรกะในบางเรื่องแม้จะถูกเช่น มะนาวแพงก็ให้ปลูกกินเอง อาหารทะเลแพงก็ไม่ต้องกินให้เฉพาะคนรวยกิน หรือ ปลูกหมาหมุ่ยได้เงินมากกว่าปลูกข้าว แต่ความซับซ้อนในเชิงตรรกะอาจจะต้องมีมากกว่านั้น แต่ที่หาตรรกะไม่ได้เลยคือการที่เศรษฐกิจประเทศกำลังย่ำแย่ ภัยแล้งคุกคามอย่างหนัก แต่ยังคงอยากจะซื้อเรือดำน้ำมูลค่า 36,000 ล้านบาทกัน ทั้งๆที่มีบทเรียนจากกรีซ  
          
ในเรื่องตรรกะนี้ พรรคการเมืองใหญ่ที่ชนะการเลือกตั้งมาตลอดก็ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองเช่นกัน การที่ถึงแม้จะชนะการเลือกตั้งมาตลอดแต่เหตุใดจึงไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้ และต้องถูกประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วง จนในทึ่สุดก็ถูกปฏิวัติ ซึ่งหากไม่เปลี่ยนตรรกะในความคิด คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ปัญหาเดิมๆก็จะไม่จบสิ้น และก็จะเป็นปัญหาของประเทศต่อไป 
          
ผู้เขียนเองก็ถูกเรียกปรับทัศนคติหลายหน แต่ทุกครั้งก็พยายามอธิบายตรรกะที่มีเหตุมีผลทางเศรษฐกิจให้กับนายทหารทั้งหลายได้รับฟัง ซึ่งแต่แรกนายทหารทั้งหลายอาจจะไม่เข้าใจและมีอารมณ์อยู่บ้าง แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่ผู้เขียนได้บอกไว้ล่วงหน้า นายทหารทั้งหลายจึงเข้าใจ และเชิญให้ออกทีวีเพื่อแสดงความเห็น ซึ่งทุกครั้งที่ถูกเชิญ ผู้เขียนก็พูดในแนวทางและตรรกะเดียวกันตลอด โดยเฉพาะเหตุผลที่ว่าทุกคนมีหน้าที่ต่อประเทศ การที่จะปล่อยให้ประเทศพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตาโดยไม่ทักท้วงนั้นคงเป็นไปไม่ได้
          
การที่ประเทศนี้จะกลับมาสู่ประเทศที่สงบและปกติได้ การพัฒนาตรรกะให้มีเหตุมีผล น่าจะเป็นสิ่งแรกที่ต้องกระทำ ตรรกะในบางเรื่องอาจจะเกิดจากการบ่มเพาะมาเป็นเวลานาน และตรรกะบางเรื่องก็เกิดจากการบิดเบือนจนไม่สามารถจะหาความจริงได้ 

ดังนั้นถ้าเราทุกคนจะหันกลับมาตั้งตรรกะกันใหม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงสีเสื้อ หรือ พรรคไหน พวกใคร แต่ให้มองเหมือนประเทศอื่นๆที่พัฒนาแล้ว ที่ประชาชนทุกคนควรยึดเอาความเจริญของประเทศเป็นหลัก และหากจะกระทำสิ่งใดแล้วประเทศไม่เจริญก็อย่าไปทำ และตั้งกำหนดเป้าหมายของประเทศร่วมกัน เช่น ถ้าหากต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ที่จะรวมความเจริญของภูมิภาคนี้ไว้กับเรา เราก็จะต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนาไปในแนวทางนั้น การที่จะต้องพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆเช่น การผลิต การค้า การจำหน่าย การกระจายสินค้า การคมนาคม การติดต่อสื่อสาร การธนาคาร การลงทุน ฯลฯ ก็จะต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการคมนาคมทั้ง ทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ  และ การยอมรับจากนานาประเทศให้เราเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุดการพัฒนาคุณภาพของบุคคลากรในประเทศ โดยเฉพาะการต้องมีตรรกะที่ถูกต้อง  
          
ต้องขอยกข้อคิดที่ดีและแนวคิดทั้งหมดนี้ให้กับกลุ่มนักศึกษาที่ได้มาพูดคุยกันในวันนั้น และแสดงให้เห็นว่าการเปิดกว้างรับฟังนักศึกษาในด้านต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศนี้พัฒนาขึ้น  ด้วยแนวคิดต่างๆของนักศึกษาสมัยนี้ทำให้ประเทศไทยยังมีความหวังได้ว่า บุคคลากรยุคใหม่จะไม่มีตรรกะวิบัติเหมือนในปัจจุบัน และต้องไม่ลืมว่าพวกเขาเหล่านี้จะต้องโตขึ้นมารับช่วงดูแลประเทศต่อจากพวกเรา อยู่แต่ว่าพวกเราจะส่งประเทศสภาพอย่างไรต่อให้กับพวกเขา โดยที่พวกเขาจะไม่มาต่อว่าพวกเราได้ในภายหลัง

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog