ไม่พบผลการค้นหา
รู้จัก 'กฤษฎางค์' จากแกนนำนศ.หลัง '6ตุลา19' สู่ทนายกลุ่ม '14นศ.'

คนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อ “กฤษฎางค์ นุตจรัส” ทนายความของ 14 นักศึกษาและนักกิจกรรม กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดศาลทหารยกคำร้องฝากขังผัด 2 เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 58  แต่สำหรับคนในแวดวงนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองตั้งแต่ยุค “6ตุลา19” น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักทนายความมืออาชีพผู้นี้

สุดสัปดาห์อันเป็นรอยต่อของสัปดาห์อันร้อนระอุ กับสัปดาห์ใหม่ที่พอจะเห็นเค้าลางแห่งการยุติความตึงเครียดลง(ชั่วคราว) เป็นจังหวะเดียวกับที่ผู้เขียนได้สนทนากับ “ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส” ถึงที่มาที่ไป บนเส้นทาง “เพื่อมวลชน” ตั้งแต่เป็นนักศึกษาในยุค 6ตุลา19 จนถึงปัจจุบันเป็นทนายความของ 14 นักศึกษาในเดือนมิถุนา58

มาทบทวนบทเรียนในอดีตถึงชนวนก่อนเกิดความรุนแรง 6 ตุลา 19 และมองเปรียบเทียบกับยุคนี้สังคมไทยจะย่ำอยู่กับการกล่าวหาอันนำไปสู่ความรุนแรงเช่นเดิมอีกหรือไม่

ภาพถ่าย “สัมนาพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ เขาเขียว ชลบุรี พ.ศ.2518

“ทนายกฤษฎางค์” ในวัย 58 ปี ยังคงแข็งแรงกระฉับกระเฉงแคล่วคล่องว่องไวแทบไม่แตกต่างจากนักกิจกรรมรุ่นลูก เขาเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการโชว์ โปสเตอร์หาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2518 และ ปีการศึกษา 2519  และภาพถ่าย “สัมนาพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ เขาเขียว ชลบุรี พ.ศ.2518

โปสเตอร์หาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2518 เป็นการลงสมัครร่วมกันของพรรคพลังธรรมและพรรคยูงทอง ในภาพ ธงชัย วินิจจะกูล เบอร์ 28 เกษียร เตชะพีระ เบอร์ 30 จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เบอร์ 31 กฤษฎางค์ นุตจรัส เบอร์ 37 กิตติศักดิ์ ปรกติเบอร์ 42  

ความน่าสนใจของเอกสารประวัติศาสตร์ทั้ง 3 ชิ้นนี้คือภาพบุคคลร่วมสมัยในวัยนักศึกษาของ “ทนายกฤษฎางค์” เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ธงชัย วินิจจะกูล, เกษียร เตชะพีระ,  กิตติศักดิ์ ปรกติ


และอีกชื่อที่สังคมไทยไม่ควรลืมคือวีรชนผู้จากไปในวันที่ 6 ตุลา 19 ประวัติศาสตร์อันควรจดจำเป็นบทเรียนของสังคมไทยคือ “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” 

ทนายกฤษฎางค์ เล่าถึง จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ว่า รู้จักครั้งแรกตอนเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี1 เมื่อปีการศึกษา 2518 
“เรา 2 คนทำกิจกรรมโดยสมัครลงเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาพรรคพลังธรรม-ยูงทอง แต่สมัครครั้งแรกก็สอบตกทั้งคู่ ต่อมามีการยุบสภานักศึกษากลางปี 2518 หลังเหตุการณ์นักศึกษาอาชีวะบุกเผามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนสิงหาคม หลังเลือกตั้งครั้งแรกที่เราสอบตกเพียง 2-3 เดือน ทำให้ อมธ.(องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และสภานักศึกษาลาออกและจัดเลือกตั้งใหม่ เรา 2 คนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานักศึกษาตัวแทนปี 1 ทำงานร่วมกันมาตลอด ตอนนั้นการโหวตแบ่งเป็นชั้นปี ไม่ได้แบ่งเป็นคณะ”

โปสเตอร์หาเสียงลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2519  เป็นการลงสมัครร่วมกันของ 3 พรรค พลังธรรม ยูงทอง แนวประชา มี เกษียร เบอร์1 กฤษฎางค์ เบอร์3 กิตติศักดิ์ เบอร์ 15  ส่วนธงชัยและจารุพงษ์ อยู่ในทีมบริหารของ อมธ. จึงไม่ได้ลงสมัครครั้งนี้ 

ทนายกฤษฎางค์ เล่าเหตุการณ์เช้าวันที่ 6 ตุลา 19 ให้ฟังว่า ประมาณตี5 มีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิด M79 ลงมากลางที่ชุมนุมที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ หลังมีระเบิดลงคนก็เริ่มออกจากสนามฟุตบอลเพราะทหาร ตำรวจ กระทิงแดง เริ่มระดมยิงจากสนามหลวงเข้ามาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเดินไปยืนดูตรงหน้าคณะนิติศาสตร์มองไปทางสนามหลวงจุดที่เป็นลานประติมากรรม 6 ตุลา ปัจจุบัน เห็นนักศึกษาที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ถูกยิงล้มลงหลายราย

ลานประติมากรรม 6 ตุลา 

“ผมเดินกลับมาที่ตึกกิจกรรมตอนนั้นเป็นตึกเล็กๆ  2 ชั้น เรียกว่า “ตึก อมธ.” โดย อมธ.อยู่ชั้นบน สภานักศึกษาอยู่ชั้นล่าง กำลังจะเก็บของที่สภานักศึกษา เห็นจารุพงษ์ วิ่งขึ้นบันไดมาชั้น1 ซึ่งเป็นสภานักศึกษา พอเจอผม เขาบอกว่า “เฮ๊ย ด่าง ทุกคนต้องไปแล้ว เพราะตอนนี้มันกำลังบุกเข้ามาแล้ว” จากนั้นเขาก็วิ่งขึ้นไปชั้นบน ซึ่งเป็น อมธ. เพื่อบอกให้ทุกคนออกไปจากตึก อมธ.

ตอนนั้นที่ตึก อมธ. นอกจากผม ก็มี หมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช กำลังหยอดเหรียญโทรศัพท์สาธารณะเครื่องสีแดงซึ่งมักจะกินเหรียญ โทรออกยาก ผมบอก “หมอมิ้ง” ว่า ต้องออกไปแล้ว ตอนนั้นเสียงปืนเริ่มดัง เห็นแสงไฟจากการยิงกระสุนตลอดเวลา...จากนั้น ผมไม่เจอจารุพงษ์อีกเลย จนกระทั่งมาเจอภาพจากหนังสือพิมพ์ ที่เขาถูกลากคอบนสนามฟุตบอล”

 “จารุพงษ์ ทองสินธุ์” ถูกลากบนสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลา 19 

ทนายกฤษฎางค์บอกว่า เหตุการณ์ต่อเนื่องในเช้า 6 ตุลา 19 คือ เห็นนักศึกษากระจายออกจากสนามฟุตบอล ด้านหนึ่งไปคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ด้านหนึ่งไปคณะวารสารศาสตร์ เพื่อหนีไปทางแม่น้ำ ส่วนเวทีปราศรัยอยู่บนสนามฟุตบอลหันหลังเวทีให้ตึกโดม มีระเบิดลงสนามฟุตบอลจนตึกสั่น คนพยายามคลานออกจากสนามฟุตบอลเพราะมีการระดมยิงปืนมาจากทางหอประชุมใหญ่ หลายคนพยายามคลานกันไปหลังเวที แล้ววิ่งผ่านตึกโดมชั้นล่างซึ่งเป็นสำนักทะเบียนทะลุไปหน้าโดมฝั่งติดแม่น้ำ ระหว่างที่มารวมกันหลังเวทีเป็นกลุ่มแล้วนับจังหวะวิ่งเข้าตึกโดมพร้อมกันนั้น เห็นคนหนึ่งกำลังคลานอยู่ จู่ๆ ก็มีอาการกระตุกหงายมีคนวิ่งไปช่วยแต่พบว่าถูกยิงเสียชีวิตแล้ว 

พอวิ่งถึงหน้าตึกโดมก็มีระเบิดลงตรงหน้าตึกโดมอีกลูก ว่ากันว่าระเบิดยิงมาจากทางเรือ จากนั้นมีคนวิ่งมาบอกว่า ประตูตรงท่าพระจันทร์เปิดไม่ได้ พวกเราจึงตัดสินใจพังตะแกงเหล็กริมแม่น้ำ แล้วลงน้ำไปขึ้นที่ท่าพระจันทร์ มีคนช่วยดึงเราขึ้นมาจากตรงนั้น 

“ตัวผมเองมีตำรวจ สน.ชนะสงครามช่วยดึงขึ้นมาจากน้ำ พอขึ้นมาก็วิ่งผ่านตลาดท่าพระจันทร์ บางคนวิ่งเข้าบ้านชาวบ้าน ผมออกมาตรงศูนย์พระเครื่อง มาถึงถนนหน้าวัดมหาธาตุด้านท่าพระจันทร์ ตำรวจจับให้ทุกคนนอนบนพื้นถนนเต็มไปหมด มีลูกเสือชาวบ้านยิงปืนขึ้นฟ้า ตำรวจยังตะโกนบอกพวกนั้นว่าถือระเบิดไม่ได้เดี๋ยวระเบิดตายห่า... ผมตัดสินใจวิ่งสวนเข้าตลาดพระเครื่อง แล้วเข้าบ้านชาวบ้านหลังหนึ่ง หลบอยู่ในบ้านนั้นประมาณ 4-5 โมงเย็น ถึงได้ออกมา ชาวบ้านหาเสื้อผ้าให้เปลี่ยน บรรยากาศตอนนั้นเริ่มมีชาวบ้านออกมาเดินบ้างแล้ว” 

เมื่อถามถึงประเด็นการใส่ร้ายกันจนกระทั่งเกิดความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลา ทนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ตอนนั้นมี 2 ประเด็นคือ 1) กล่าวหาว่านักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนาม โดยอ้างว่าได้รับการช่วยเหลือทางการเงินและอาวุธ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ข้อกล่าวหาที่ 2) คือกล่าวหาว่านักศึกษามีการกระทำหมิ่นเบื้องสูงและต้องการจะโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

การกล่าวหาทั้ง 2 ข้อมีการทำเป็นขบวนการควบคู่กัน ผ่านสื่อโฆษณาของทางรัฐ เช่นสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งมี พ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้รับผิดชอบ และมีโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เช่นรายการโทรทัศน์บางรายการและหนังสือพิมพ์ “ขวาจัด” เช่นหนังสือพิมพ์ดาวสยาม รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่มพลังมวลชนขึ้นต่อต้านนักศึกษา โดยมีการติดอาวุธให้กลุ่มพลังมวลชนเหล่านั้น เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน โดยใช้การโฆษณาและจัดตั้งก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปีเศษ 

จนในที่สุดในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 กลุ่มเหล่านี้หาว่านักศึกษามีพฤติการณ์หมิ่นเบื้องสูง จากการจัดแสดงละครต่อต้านจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ลานโพธิ์ ในวันที่ 4 ตุลา 19 โดยตั้งแต่เช้าวันที่ 5 ตุลา 19 ก็มีการโฆษณาสิ่งพิมพ์กล่าวหานักศึกษาและระดมกองกำลังจัดตั้งให้มาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่บ่ายวันที่ 5 ตุลา แล้วเคลื่อนมาสนามหลวงตอนเย็น ปิดล้อม มธ.ฝั่งสนามหลวง ทางมหาวิทยาลัยจึงปิดประตูเข้าออกด้านนั้น คืนวันที่ 5 ตุลา ก็ปลุกระดมทั้งคืน เรียกร้องให้มวลชนจัดตั้งมาทำร้ายนักศึกาจนกระทั่งเกิดเหตุเช้าวันที่ 6 ตุลาตามที่เล่าไป
 (เก้าอี้ฟาด) อีกภาพประวัติศาสตร์ ที่สนามหลวงในวันที่ 6 ตุลา19

สำหรับข้อสงสัยที่ว่าภาพการนำคนไปแขวนคอใต้ต้นมะขามสนามหลวงแล้วเอาเก้าอี้ฟาด ท่ามกลางคนดูที่ยืนยิ้ม จะเกิดขึ้นอีกไหม อดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมผู้นี้มองว่า  คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นอีก แต่การเกิดขึ้นครั้งหน้าจะเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย เพราะอำนาจเก่าคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ แต่อาจจะเปลี่ยนวิธีการชวนเชื่อ จากเดิมกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็อาจจะกล่าวหาเป็นสัญลักษณ์อย่างอื่นที่เขาต้องการต่อต้าน 

ทนายกฤษฎางค์ มองว่า แม้จะมีโซเชียลมีเดียที่สื่อสารได้ 2 ทาง แต่ในที่สุดอาจจะมีการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวจนความคิดต่างไม่สามารถแสดงออกได้ ไม่ต่างจากการใช้สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ในสมัยก่อน ที่ตอนแรกก็มีการแสดงความเห็นจากฝ่ายที่คิดแตกต่างได้ แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งถูกทำให้เงียบลง ก็อยู่ในบรรยากาศที่สื่อสารจากฝ่ายเดียว และแม้โซเชียลมีเดียอาจจะกว้างกว่า เพราะสามารถทำข้อมูลจากต่างประเทศ แต่อย่าลืมว่า “แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยน แต่คนยังไม่เปลี่ยน” ตอนนี้ยังมีคนที่คิดแบบในยุค 6 ตุลา 19 ยังมีชีวิตอยู่ 

“เช้าวันที่ 6 ตุลา ไม่มีใครรู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น คนที่มาทำงานแถวๆนั้น ก็มาด้วยข้อมูลในหัวที่เต็มไปด้วยการกล่าวหานักศึกษา ภาพที่คนยืนยิ้มดูความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจะเป็นเพราะเขาไม่รู้ข้อเท็จจริง เขาอาจจะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการลงโทษฆาตกร ที่สมควรจะโดน” 

ทนายกฤษฎางค์ เล่าถึงชีวิตหลังวันที่ 6 ตุลา 19 ว่า คุณพ่อซึ่งเป็นนายอำเภอ พาไปสงบสติอารมณ์ที่ลำปาง 2 เดือน แล้วกลับมาเรียนธรรมศาสตร์ ปลายเดือน ธ.ค. 19 หลัง มธ.ปิดเรียนไป 2 เดือน   ตอนเปิดเรียน ธรรมศาสตร์มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด มีเจ้าหน้าที่ทหารมาควบคุมประตูทางเข้าออกมธ. ส่วนนักศึกษาที่ทำกิจกรรมก่อน 6 ตุลา ก็เหลือน้อยแล้ว เพราะหลายคนถ้าไม่ตาย ก็หลบเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ส่วนในมหาวิทยาลัยสถานการณ์ยังเงียบอยู่มีแต่นักศึกษากลุ่มเล็กๆ แสดงการต่อต้านเขียนข้อความในห้องน้ำ หรือ โปรยใบปลิวจากคณะศิลปศาสตร์ตอนเที่ยง ในขณะที่รัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมเด็ดขาดแม้แต่กิจกรรมกีฬา เพราะเขาไม่ต้องการให้รวมกลุ่มกัน ตอนนั้นเป็นยุคที่ปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นเลขาธิการ 

“หลังถูกกดดันจากต่างประเทศ รัฐบาลจึงยอมให้นักศึกษา ทำกิจกรรมได้ และให้มีการจัดการเลือกตั้ง “นายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์” โดยผมได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ คนแรกและคนสุดท้ายของตำแหน่งนี้ ในปีการศึกษา 2521 เป็นตำแหน่งของฝ่ายบริหารคล้าย อมธ. แต่ถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการนักศึกษาคณะต่างๆ แทนการมีสภานักศึกษา เพราะตอนนั้นเขากลัวการมีสภานักศึกษาและ อมธ. หลังจากปีนั้นจึงมี อมธ.ตามปกติ  แต่ในปี 2521 ปีเดียวกันนี้เองที่นักศึกษาได้รับการปล่อยตัวในเดือน ก.ย.ปี 2521 โดยการนิรโทษกรรม”

ในปี 2521 กิจกรรมข้อเรียกของนักศึกษาตอนนั้นคือ เรียกร้องให้ปล่อยตัว นักศึกษา 18 คนที่ถูกจับจาก 6 ตุลา 19 เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ธงชัย วินิจจะกูล, สุธรรม แสงปทุม เป็นต้น และเรียกร้องให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ นักศึกษามีการนำภาพถ่ายการสังหารหมู่มาเผยแพร่ เพื่อตอบโต้ข้ออ้างของรัฐบาลที่บอกว่าไม่มีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้ารักษาความสงบเพราะนักศึกษากำลังก่อการร้ายด้วยอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์ต่างชาติและมีเจตนาจะล้มสถาบันเบื้องสูง – นี่คือข้อกล่าวหา นอกจากนั้นยังมีการนำสิ่งที่อ้างว่าเป็นหลักฐาน มาโชว์ที่วังสราญรมย์ หรือ กระทรวงการต่างประเทศเดิม เช่น สารสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง  ธงชาติจีนแดง หรือเอกสารที่อ้างว่าเกี่ยวพัน 

ทนายกฤษฎางค์ อดีตนายกสโมสรนักศึกษาธรรมศาสตร์ ผู้มีคนกล่าวถึงว่าเป็นแกนนำนักศึกษาที่แสบที่สุดคนหนึ่ง หลังจบการศึกษาปริญญาตรีแล้ว เขาเริ่มต้นชีวิตทนายความมืออาชีพ มีสำนักกฎหมายของตัวเองคือ “สำนักงานกฏหมายและบัญชีกฤษฎางค์ นุตจรัส” แต่เหตุใดนักกิจกรรมผู้ที่เคยผ่านการเลือกตั้งในระดับมหาวิทยาลัยหลายครั้ง จึงไม่เข้าไปใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับนักการเมืองเพื่อเดินบนเส้นทางการเมืองในระบบพรรค เหมือนทนายอีกหลายคน เขาตอบว่า

“ส่วนตัวไม่คิดจะไปเป็นนักการเมือง ไม่คิดจะลงเลือกตั้ง ส.ส. จึงไม่ต้องไปยุ่งกับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่นอกจากทำอาชีพทนายเพื่อหารายได้เลี้ยงตัวแล้ว ก็ยังทำคดีเกี่ยวกับการเมืองสังคม โดยไม่ได้คิดเงินตอบแทน ตอนนี้ก็มี 4 คดี คือ คดีชาวบ้านที่บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์, คดีอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่โดนจับพร้อมคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากนั้น ก็เป็นทนายคดี อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ในคดีกบฎ เนื่องจากขึ้นไฮด์ปาร์คบนเวที กปปส. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และล่าสุดเป็นทนายคดี 14 นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่  ทั้งหมด 4 คดี ไม่ได้คิดค่าตอบแทน”

เมื่อถามว่าทำไมจึงตัดสินใจเป็นทนายว่าความให้อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ซึ่งขึ้นเวที กปปส. ทั้งที่อยู่คนละอุดมการณ์ ทนายความผู้นี้ กล่าวว่า “เพราะเชื่อว่า คนคิดแตกต่างกันได้ แม้กิตติศักดิ์คิดจะไม่ตรงกับผม แต่เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเขาในขณะนั้น ซึ่งเขาไม่ควรถูกกล่าวหาว่า การแสดงความคิดเห็นแบบนี้เป็นกบฏ เหตุผลอีกข้อคือ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม... และโดยอาชีพทนายความก็ต้องว่าความให้คนที่ประสบปัญหาทางกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะคิดแตกต่างจากเราหรือไม่ ยิ่งเพื่อนฝูงขอความช่วยเหลือยิ่งต้องทำ เป็นเพื่อนกันก็ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทุกเรื่อง อย่างคดีนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คน อาจารย์กิตติศักดิ์ ก็มาช่วยเหลือให้คำปรึกษาด้านข้อกฎหมายประกอบกันด้วย เขาเห็นว่านักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คน ไม่จำเป็นต้องขึ้นศาลทหาร” 

ส่วนที่มาของการเป็นทนายให้ 14 นักศึกษาและนักกิจกรรม ทนายกฤษฎางค์บอกว่า “เดิมทีรู้จักเฉพาะนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเขาเคยมาร่วมกิจกรรมคณะนิติศาสตร์ ซึ่งคณะนิติศาสตร์เชิญผมมาเสวนาด้านกฎหมาย เมื่อพวกเขาโดนคดีนี้ ทางอาจารย์คณะนิติศาสตร์จึงติดต่อผม ให้มาเป็นทนายความดูแลคดี 

ผมเข้าไปทำคดีนี้ครั้งแรก วันที่ 24 มิ.ย.ซึ่งมีเหตุการณ์นักศึกษา ไปที่ สน.ปทุมวันไปแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่ ที่ใช้กำลังควบคุมตัวพวกเขาที่หน้าหอศิลป์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. โดยนักศึกษาประกาศไม่ได้ไปมอบตัวตามหมายเรียก... ในวันนั้น ผมก็เพิ่งทราบว่ามีนักศึกษากลุ่มดาวดินมาร่วมด้วยโดยผมไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ทำให้จากเดิมผมดูแลคดีนักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คน ก็เพิ่มกลุ่มดาวดินอีก 7 คน ตอนนี้จึงดูแลคดีทั้ง 14 คน 

เหตุผลที่รับเป็นทนายเพราะเรามีอาชีพทนายอยู่แล้ว เมื่อเห็นความไม่ถูกต้องก็ต้องช่วยเหลือ แต่ที่ดีที่สุดคือ เราเคยเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมมาก่อนจึงเข้าใจเด็กพวกนี้ ทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจ เพราะหลักการคือ เด็กบริสุทธิ์ มีเจตนาดี มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ไม่มีเบื้องหลัง จึงมอบการตัดสินใจทั้งหมดให้เขา เพียงแต่เราเป็นพี่เลี้ยงทางกฎหมาย” 

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรที่มีข้อกล่าวหาว่านักศึกษามีเบื้องหลัง ทนายกฤษฎางค์บอกว่า “จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่สำคัญ เพราะทนายมีหน้าที่เพียงพิสูจน์ว่า การกระทำของเด็ก ไม่เป็นความผิด ผ่านการพิจารณาคดีในศาลที่เป็นธรรม หลักการทำงานเช่นเดียวกับทุกคดี ถ้าพิสูจน์ความผิดไม่ได้ศาลก็ต้องยกฟ้องปล่อยตัว... เราไม่สามารถไปคิดหรือเข้าใจเอาเองว่าเด็กมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร มันไม่ใช่หน้าที่เรา เช่นเดียวกับที่เราไม่ต้องไปรู้ว่า ทางการที่ดำเนินคดีกับเด็กเหล่านี้มีเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังอย่างไร” ทนายกฤษฎางค์กล่าวทิ้งท้าย  

ภาพ / เรื่อง : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog