สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ จัดทำโครงการ "ฟื้นฟูลุ่มน้ำน่าน" ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาเป็นแม่แบบในการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนน่าน เน้นแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และปัญหาด้านการเกษตร
คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ระบุว่า การจัดทำโครงการ "ฟื้นฟูลุ่มน้ำน่าน จะเริ่มนำร่องใน 3 พื้นที่ ได้แก่ สวนเอเดน อำเภอเวียงสา ชุมชนต้นน้ำน่าน อำเภอท่าวังผา และศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านห้วยพ่าน อำเภอเชียงกลาง ภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่การสร้างแบบแปลนที่สวยงามเท่านั้น แต่ต้องมอบประโยชน์และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นด้วย
การออกแบบจะเน้นพัฒนาพื้นที่ให้ใช้งานได้หลายประเภท เช่น กักเก็บน้ำได้ ด้วยอ่างกักเก็บน้ำ ภูเขากักเก็บน้ำ และทุกชุมชนต้องบำบัดน้ำเสียได้ด้วยตัวเอง รวมถึงปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ เพื่อการบริโภค และการพาณิชย์ได้ ขณะที่ในระยะยาว จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ด้านประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ระบุว่า จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องทำให้พบว่า อุปสรรคของการพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเองได้ คือการขาดความรู้ และความเข้าใจของประชากรพื้นที่ทั้งด้านเกษตร การจัดการพื้นที่ และการรองรับภัยพิบัติ จากนี้ทางมูลนิธิจึงเตรียมเปิดพื้นที่ทุกแห่งที่เข้าไปพัฒนาแล้ว ให้ประชาชนนำองค์ความรู้ นำกลับไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้
นอกจากเจังหวัดน่านแล้ว แนวคิดเรื่องการออกแบบเพื่อชีวิต ยังมีการนำไปปรับใช้ที่ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ซึ่งทั้งสองแห่ง มีการปรับปรุงผังเมืองให้รองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจก่อให้เกิดอุทกภัยได้มากขึ้น และการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมากยิ่งขึ้น