ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนี PMI เมียนมา-ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย-เวียดนาม-อินโดนีเซีย หดตัวต่ำลงเป็นประวัติการณ์ สะท้อนปัญหาการจ้างงาน คำสั่งซื้อใหม่ไม่มีช่วงโควิด-19 ระบาด ขาดข้อมูลประเทศไทย

ผลการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ประจำเดือน เม.ย. ใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ เมียนมา, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยการจัดทำของบริษัทไอเอชเอส มาร์คิต สะท้อนความตกต่ำในภาคการผลิตอย่างชัดเจนที่อาเซียนต้องแบกรับจากวิกฤตโควิด-19 

เมื่อไล่ตามลำดับตัวเลขดัชนีของทุกประเทศ พบว่าหดตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 ซึ่งเป็นช่วงแบ่งเขตการขยายตัวหรือหดตัวของกิจกรรมการผลิต โดยมีเมียนมาเผชิญศึกหนักสุด ตัวเลขหล่นมาอยู่ที่ 29.0 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ของประเทศ เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มองเห็นการหดตัวจากระดับ 45.3 ในเดือน มี.ค.เป็น 27.5 ในเดือนนี้

สำหรับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และเวียดนาม ดัชนี PMI ใกล้เคียงกันในระดับสามสิบกว่า ได้แก่ 31.6, 31.3 และ 32.7 ตามลำดับ 


เมียนมา

นอกจากความน่ากังวลที่ตัวเลขของเมียนมาหล่นลงมาอยู่ที่ระดับ 29.0 แล้ว ความเลวร้ายอีกประการที่ซ่อนอยู่คือตัวเลขดังกล่าวเป็นการลดลงถึง 16.3 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับดัชนี PMI ของเมียนมาอยู่ที่ 45.3 ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่ลงลึกที่สุดภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน และเป็นสถิติใหม่นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558

Reuters 111219 อองซาน ซูจี ASSK Suu Kyi ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ICJ
  • 'อองซาน ซูจี' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเมียนมา

ขณะเดียวกันเมื่อมองลึกลงไปในดัชนีดังกล่าว พบว่า ผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และระดับการจ้างงานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของน้ำหนักดัชนีรวมยังปรับตัวลดลงแทบทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับการตอบแบบสอบถามของผู้ประกอบการที่กว่าร้อยละ 80 มีคำสั่งซื้อลดลง และมีเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่มองเห็นธุรกิจเติบโตขึ้น

'เทรเวอร์ บัลชิน' ผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจของไอเอชเอส มาร์คิต ชี้ว่า ยิ่งถ้ามองในมิติของการจ้างงาน บริษัทราวร้อยละ 37 ยอมรับว่าจำนวนพนักงานในเดือน เม.ย.ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยหลักที่โรงงานปิดตัวตามนโยบายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ยังไม่แน่ชัดคือแรงงานเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหนที่จะได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง


ฟิลิปปินส์

หลังรัฐบาลออกมาประกาศยืดระยะเวลาการล็อกดาวน์ออกไปเป็นตลอดทั้งเดือน เม.ย. จึงส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในภาคการผลิตของฟิลิปปินส์ สะท้อนในดัชนี PMI หล่นจาก 39.7 ในเดือน มี.ค.มาเป็น 31.6 ในเดือน เม.ย.และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดของประเทศ

ดูแตร์เต_ฟิลิปปินส์.jpg
  • 'โรดริโก ดูแตร์เต' ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์

ภาคการผลิตของฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลงระหว่างการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทั่วโลกก็ยังบั่นทอนตัวเลขการส่งออกไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้ฟิลิปปินส์จึงต้องเผชิญหน้ากับการหดตัวของคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลงเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อไปยังภาคการจ้างงานที่มีการปรับลดคนงานไปจนถึงการเลิกจ้างทั้งหมดในกรณีที่โรงงานต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคนว่างงานในเดือน เม.ย.ยังน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

'เดวิด โอเวน' นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส มาร์คิต ชี้ว่า ตัวแปรสำคัญของวิกฤตครั้งนี้อยู่ที่การจ้างงานเป็นหลัก แม้ตัวเลขโดยรวมจะยังแย่อยู่ แต่ก็ถือว่าดีขึ้นมาจากเดือนก่อนหน้า ดังนั้น หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็วประเทศก็อาจมองเห็นการฟื้นตัวในฝั่งแรงงานด้วย


มาเลเซีย

สถานการณ์ของมาเลเซียก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่นๆ มากนัก ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ห้ามการเคลื่อนย้ายส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวชั่วคราว ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคจากทั้งในและนอกประเทศก็ลดลงจากวิกฤตโรคระบาด 

มูห์ยิดดิน ยัสซิน_รอยเตอร์ส
  • 'มูห์ยิดดิน ยัสซิน' นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย

รายงานชี้ว่าสถานการณ์ด้านการส่งออกสร้างผลกระทบอย่างมากให้กับบริษัทเอกชน ตัวเลขสะท้อนกว่าร้อยละ 83 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่จากต่างประเทศลดลง

อย่างไรก็ตาม 'คริส วิลเลียมสัน' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจของไอเอชเอส มาร์คิต ได้ยังฉายภาพบวกของมาเลเซียในฝั่งการจ้างงานว่า จะยังไงแรงงานส่วนใหญ่ในมาเลเซียยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างดีในระยะยาวอยู่

นอกจากนี้ เมื่อลองนำปัจจัยอย่างดัชนี PMI มาคำนวณเปรียบเทียบเป็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) รายงานพบว่า จากดัชนีที่ 31.4 ของมาเลเซียจะส่งผลให้ปี 2563 นี้ มาเลเซียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับร้อยละ 0 หรือเรียกว่า "ไม่มีการเติบโต" นั้นเอง


เวียดนาม

ด้านเวียดนามผู้ที่เคยได้รับประโยชน์มหาศาลจากวิกฤตสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นผู้โชคดีเช่นเดิมในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ เพราะตัวเลขดัชนี PMI ของเวียดนามได้ตกลงมาอยู่ที่ 32.7 ในเดือน เม.ย.จากเดิมที่ 41.9 ในเดือน มี.ค.

เหงียน ซวน ฟุก - เวียดนาม
  • 'เหงียน ซวน ฟุก' นายกรัฐมนตรีของเวียดนาม

ปัจจัยบั่นทอนโดยตรงมีทั้งจากการยกเลิกคำสั่งซื้อ การปิดตัวลงของบริษัทหรือกิจการมากมายทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ขณะที่การส่งออกก็ไม่ได้เข้ามาอุ้มอุตสาหกรรมไว้ได้ 

นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการสำรวจมาที่นักธุรกิจในเวียดนามมีมุมมองแง่ลบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 1 ปีข้างหน้าหรือในอนาคต โดยมาจากประเด็นความกังวลว่าเชื้อไวรัสจะยังอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลานาน 

'แอนดรูว์ ฮาร์เกอร์' ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า "การจะดูว่าเดือน เม.ย.เป็นจุดต่ำสุดหรือยัง ก็ต้องรอดูว่าบริษัทและลูกค้าของพวกเขารับมือกับการคลายล็อกดาวน์และการกลับมาของธุรกิจต่างๆ ที่หยุดไปชั่วคราวอย่างไรบ้าง"


อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เห็นการหดตัวของดัชนี PMI อย่างมีนัยสำคัญ คือจาก 45.3 ในเดือน มี.ค.หล่นลงมาเป็น 27.5 ในเดือน เม.ย.ซึ่งนับว่าเป็นการปรับลดลงเยอะที่สุดในรอบ 9 ปี 

โจโก วีโดโด - อินโดนีเซีย - AFP
  • 'โจโก วิโดโด' ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย 

สายการผลิตของอินโดนีเซียมีปัญหาค่อนข้างมากจากนโยบายล็อกดาวน์ต่างๆ โรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลง และการขนส่งก็ถูกปิดกั้น จนระยะเวลาในการขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า ขณะที่สกุลเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ยิ่งส่งผลร้ายกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอีก 

'เบอร์นาร์ด ออว์' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส มาร์คิต ย้ำว่า "ผลสำรวจนี้เน้นย้ำไปที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนของอินโดนีเซียจากมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้อุปสงค์โลกลดลงและทำให้วัตถุดิบขาดแคลน"

ตัวเลขจากผลการสำรวจครั้งนี้ชี้ชัดแล้วว่าอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ตามในการสำรวจครั้งนี้ของไอเอชเอส มาร์คิต ไม่ได้มีข้อมูลของประเทศไทยรวมอยู่ด้วย