ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดยนักวิจัยจากแคนาดา แสดงให้เห็นว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ เป็นแบบทดสอบที่ดีและราคาถูกที่สุด ในการวิเคราะห์ว่า คนๆนั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดอุดตันหรือไม่

ผลวิจัยล่าสุดที่จัดทำโดยนักวิจัยจากแคนาดา แสดงให้เห็นว่า ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ เป็นแบบทดสอบที่ดีและราคาถูกที่สุด ในการวิเคราะห์ว่า คนๆนั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดอุดตันหรือไม่ 

วารสารด้านการแพทย์แลนเซท ตีพิมพ์ผลวิจัยล่าสุด ที่จัดทำโดยนักวิจัยของ McMaster University in Hamilton ในประเทศแคนาดา ระบุว่า การทดสอบความแข็งแรงของมือ ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ที่จะทำให้เราได้รู้ว่า คนๆนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ หรือ เส้นเลือดอุดตันมากน้อยแค่ไหน

นักวิจัยได้ทดสอบคนไข้ 140,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 35 - 70 ปี ใน 17 ประเทศทั่วโลกตลอดระยะเวลา 4 ปีติดต่อกัน โดยใช้เครื่องวัดพลังงานจามาร์ เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือผ่านการกำด้ามจับของเครื่องดังกล่าวให้แน่นที่สุด ซึ่งพบว่า ทุกๆ 5 กิโลกรัมที่แรงจับลดลง จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตถึงร้อยละ 16

โดยการลดลงดังกล่าว ยังเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจร้อยละ 7 และโรคหลอดเลือดอุดตันอีกร้อยละ 9 ซึ่งการทดสอบวิธีนี้ ยังมีความแม่นยำมากกว่าการตรวจความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดโลหิตออกไปเลี้ยงร่างกายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการลดลงของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ระบบทางเดินหายใจ หรืออาการบาดเจ็บจากการล้มหรือกระดูกหักแต่อย่างใด 

โดยหลังจากนี้ นักวิจัยจะศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาความเชื่อมโยงของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง และยังเป็นสัญญาณที่ทำให้ได้เห็นความเสี่ยงที่คนๆนั้นอาจเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจ พร้อมกับตรวจสอบสมมติฐานที่ว่า หากมนุษย์มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้หรือไม่ โดยทีมวิจัยจะลงลึกไปที่รายละเอียดของกลุ่มคนไข้มากขึ้น เช่น น้ำหนักตัว ส่วนสูง และเชื้อชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจมีผลต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยตรง

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog