ไม่พบผลการค้นหา
ASPI ชี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ 83 แห่งทั่วโลกที่มีโรงงานผลิตในจีนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ 'แรงงานบังคับ' ซึ่งเป็นชาวมุสลิมอุยกูร์

​เว็บไซต์ Independent รายงานว่า สถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย Australian Strategic Policy Institute (ASPI) องค์กรอิสระที่มีวัตถุประสงค์หลักในการทำงานเพื่อจัดหาข้อมูลเชิงลึกด้านกลาโหม ความมั่นคง และนโยบายยุทธศาสตร์ให้กับรัฐบาลของออสเตรเลีย ได้เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายหมื่นคนถูกส่งตัวจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันออกของจีน เพื่อไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศ โดยเชื่อว่าเป็นแผนดำเนินการโดยรัฐบาลจีน โดยรายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารของรัฐบาลจีนและการรายงานข่าวของสื่อมวลชนท้องถิ่น

รายงานระบุว่า ชาวอุยกูร์มากกว่า 80,000 คน ถูกส่งตัวไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม 27 แห่ง ใน 9 มณฑลของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากบ้านของพวกเขาทั้งสิ้น และตลอดระยะเวลาการทำงานนั้น พวกเขาถูกจับตามองจากผู้ควบคุมตลอดเวลา ถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางศาสนาอย่างเด็ดขาด รวมถึงถูกบังคับให้เรียนภาษาจีนกลาง และสั่งห้ามไม่ให้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เขตปกครองตนเองซินเจียง

"ชาวอุยกูร์เหล่านี้ต้องทำงานในสภาพที่ส่อเค้าว่าเป็น 'แรงงานบังคับ' และโรงงานทั้งหมดก็เป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนให้กับบริษัทชื่อดังระดับโลกอย่างน้อย 83 แห่ง ครอบคลุมทั้งบริษัทผลิตเสื้อผ้า เทคโนโลยี และยานยนตร์ เช่น BMW แอปเปิล GAB หัวเว่ย ไนกี โซนี ซัมซุง และโฟล์กสวาเกน"

ทั้งนี้ หนึ่งในโรงงานที่มีรายชื่ออยู่ในรายงาน ASPI คือบริษัท O-Film Technology เป็นผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปให้กับโทรศัพท์ไอโฟนของบริษัทแอปเปิล โดยข้อมูลจากสำนักข่าวท้องถิ่นเปิดเผยว่าปัจจุบัน บริษัทนี้มีพนักงานที่เป็นแรงงานชาวอุยกูร์ทำงานอยู่ราว 700 คน ซึ่งเข้ามาทำงานด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีนตั้งแต่ปี 2560 อย่างไรก็ตาม บริษัทแอปเปิลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แอปเปิลมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างความมั่นใจว่าแรงงานในโรงงานทุกคนจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่พวกเขาพึงได้รับ

ด้านโฆษกของบริษัทหัวเว่ยเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เห็นรายงานฉบับดังกล่าวแล้วและกำลังเดินหน้าพิจารณาข้อมูลตามที่ปรากฎในรายงาน พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาหัวเว่ยกำชับบริษัทซัพพลายเออร์ของตัวเองเสมอให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานด้านแรงงานสากลอย่างเคร่งครัด 

The Independent ระบุว่า รัฐบาลจีนออกมาปฏิเสธกรณีดังกล่าวว่าไม่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานชาวอุยกูร์ พร้อมชี้ว่ารายงานฉบับนี้เป็นการกระทำที่ต้องการป้ายสีรัฐบาลจีนโดยมีสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเปิดเผยในงานแถลงข่าวประจำวันเช้าวันจันทร์ที่ 9 มี.ค.ว่า ชาวอุยกูร์มุสลิมทุกคนที่ออกจากค่ายปรับทัศนคติในเขตปกครองซินเจียงไปแล้วต่าง 'ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: