ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด 'ปารีณา' ส.ส.ราชบุรี พปชร. ฐานฝ่าฝืน-ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงคนแรกของไทยในคดีรุกที่ป่า พร้อมส่งศาลฎีกาพิจารณาต่อ ด้าน 'ปารีณา' มอบทนายเตรียมแถลงสู้

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กับ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โดยปรากฏข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามที่ ปารีณา ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 โดยระบุว่ามีรายการที่ดินตามแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) จำนวน 29 แปลง พื้นที่ประมาณ 853 – 0 – 73 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี       

ป.ป.ช.

โดยอาศัยพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงที่หน่วยงานราชการ และบุคลที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่า ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ. 2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โดยปี พ.ศ. 2536 และปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เพื่อให้ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาปี พ.ศ. 2554 มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้พื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และ ส.ป.ก ได้ดำเนินการโดยปิดประกาศให้เกษตรกรผู้ถือครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดินยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทุกปี ซึ่งที่ดินดังกล่าว ส.ป.ก. และกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกำกับดูแลพื้นที่และมีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้

จากการไต่สวนปรากฏว่า ปารีณา ได้ร่วมกับทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711 – 2 – 93 ไร่ โดยมีพฤติการณ์ ดังนี้

ป.ป.ช.

ในปี พ.ศ. 2546 – พ.ศ. 2562 มีการขอใช้ไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจอมบึง และชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อประกอบกิจการปศุสัตว์

ในปี พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2556 มีการชำระภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลง ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ซึ่งมีการกระจายการถือครองที่ดินดังกล่าว โดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครองที่ดินในเอกสาร ภ.บ.ท. 5 จำนวนหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ทั้งหมด

ในปี พ.ศ. 2557 องค์การบริหารส่วนตำบลรางบัวได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว เนื่องจากที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เป็นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี ไม่ใช่เอกสารสิทธิ ซึ่งกรมการปกครองได้แจ้งให้ยกเลิกแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท. 5) และให้งดการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินและการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์ ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. แต่อย่างใด

คดีปารีณา

ในปี พ.ศ. 2555 – พ.ศ. 2562 ปารีณา ไกรคุปต์ ได้มีการขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2562 ปารีณา ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท. 5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต จนกระทั่งถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดินจาก ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ โดย ส.ป.ก. ได้แจ้งให้ ปารีณา ส่งคืนที่ดินที่ครอบครอง และทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด

อีกทั้ง กรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับ ปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711 – 2 – 93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

ปารีณา ยื่นหนังสือ un

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การที่ ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อยู่ในกรอบของจริยธรรมในการดำรงตน เคารพ ยึดถือ และปฏิบัติ  ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งบัญญัติออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือประโยชน์ของรัฐ มากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องนั้น แต่กลับไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญหรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม

จึงมีมติว่า กรณีที่ ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11  ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

ปารีณา

ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกัน มีการแจ้งว่า ปารีณา จะเปิดแถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวที่รัฐสภา แต่ต่อมามีการแจ้งว่า ปารีณา ได้ยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว

โดยจะยังไม่ขอให้ความเห็นใดๆ เพราะนี่ถือเป็นคดีผิดจริยธรรมร้ายแรงและตนเองนับว่าเป็นคนแรกในประเทศที่ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ จึงยังไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย และต้องศึกษาอย่างละเอียด ร่วมกับทีมทนายความก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดโดยได้มอบหมายให้ ทศพล เพ็งส้ม ในฐานะที่เป็นทนายความส่วนตัว เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด ส่วนจะนัดหมายเพื่อแถลงข่าวอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทีมทนายความว่า จะให้ความเห็นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง