ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูวาทะ - วิธีคิด 'ประยุทธ์' ภายในประเทศต่อ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ตลอด 5 ปีของการรัฐประหาร พบดูถูก-ทวงบุญคุณคนจน 'โครงการ30บาท' เป็นภาระงบประมาณ แต่พอขึ้นเวทีโลกทั้ง 'ยูเอ็น-อาเซียน' กลับหยิบยกเป็นผลงานเด่น ยิ่งพลิก 'นโยบาย รบ.ประยุทธ์' 2 พบไม่จริงจริงใจกับโครงการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งสวนทางกับการผลักดันในเรื่อง 'ความมั่นคง'

นับเป็นอีกครั้งและอีกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อดีตหัวหน้า คสช. และผู้นำคณะรัฐประหาร ขึ้นเวทีโลก ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562

โดยอดีตหัวหน้า คสช.ได้ยกการสร้าง 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ของคนไทยมาเชิดชูในเวทีโลก โดยไม่กล่าวถึงผู้ที่ผลักดันโครงการดังกล่าวและเจ้าของต้นตำรับแนวคิดที่ว่าอย่างประสบผลสำเร็จ

"ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้น ให้ประชากรทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ พัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม และจะร่วมมือกับทุกหุ้นส่วนเพื่อขับเคลื่อนให้ประชากรโลกมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปด้วยกัน

เพราะคล้อยหลังไม่ทันไร เมื่อต้นปี 2562 ผู้นำฯ ที่มักอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เคยพาดพิงถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อนหยิบยกโครงการหลักประกันสุขภาพด้วนหน้าขึ้นมาย้ำต่อหน้าประชาคมโลก 

ย้อนเหตุการณ์วิวาทะในอดีตที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยโจมตีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเมื่อ 14 ม.ค.2562 ที่จ.ลำปาง ชายชาติทหาร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า 

"เรื่อง 30 บาทก็นำมาพูดกันอยู่นั่น ตั้งแต่ผมเข้ามา 4 ปีได้แก้ปัญหา 30 บาท โดยหาเงินกองกลางไปจ่ายค่าหมอพยาบาลที่ค้างไว้เป็นปีๆ บางโรงพยาบาลแทบล้มหมดเพราะงบสะสมหมด ถือเป็นการทำงานที่ไม่ครบระบบ ทุกคนอาจรักและชอบ ทุกคนอาจไม่รู้เบื้องหลังว่าเป็นอย่างไร"

"ขอยกตัวอย่างเดียวเท่านั้น ขี้เกียจไปทะเลาะกับคน แต่พูดเอาดีเอาเด่นอยู่นั่น สิ่งที่ตนพูด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่านี่คือภาระที่รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหา"  

  • อยู่ไทยดูถูก'บัตรทอง-คนจน'ภาระชาติ จ้องแก้กม.ล้มเลิก  

แต่เมื่อย้อนดูวาทะผู้นำรัฐประหารก็จะพบ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของพล.อ.ประยุทธ์ที่ตั้งตนจากปากกระบอกปืน โดยไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชน พออยู่ในประเทศมักจะออกอาการ 'แซะ-แขวะ' ลดความน่าเชื่อถือของ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' อยู่เป็นระยะ

โดยมองวงเงินที่ดูแลคนจนผู้เสียภาษีทุกหมู่เหล่าเป็นภาระงบประมาณ ทั้งที่อัดฉีดงบกองทัพเป็นวงเงินมหาศาล ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

1 ก.ค. 58 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคยโจมตีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า

"งบประมาณสาธารณสุขมันไม่พอ เพราะรัฐบาลไม่ใส่ใจ เพราะไปทำรักษาทุกโรคไงเล่า มันเป็นได้หรือไม่ มันเป็นประชานิยม แต่เป็นธรรมกับประชาชนได้รับ ผมไปทำอะไรไม่ได้ แต่เรามีความพร้อมหรือยัง เฉลี่ยแล้วคนละ 2,900 บาท รักษาพอหรือไม่ ทุกโรคเนี่ย ไหวหรือไม่ โรงพยาบาลก็จะเจ๊ง"

"รัฐบาลก็ต้องไปหางบ สปสช.แล้วมาเพิ่มให้ งบประมาณเหมือนมากแต่พอไปหารแล้วก็นิดเดียว ผมถามว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ เขามีกัน 190 ประเทศ ยังไม่ทำเลย ใครทำมา แล้วผมล้มได้หรือไม่ มันก็เป็นภาระอยู่แบบนี้ แล้วก็มาเรียกร้อง จะเอาอะไรกับผม" 

"อีกไม่กี่ปีโรงพยาบาลจะเจ๊งทั้งหมดแล้วจะทำอย่างไร แล้วก็ชื่นชมเข้าไปคนคิดอันนี้ขึ้นมา คนจนคนรวยดูแลเท่ากันหมดใครจะดูได้ เราเป็นประเทศมหาอำนาจขนาดนั้นหรือ เข้าใจตรงนี้บ้าง แต่ผมไม่ฝืน ผมยกเลิกตรงนี้ไม่ได้" 


ประยุทธ์ หลักประกันสุขภาพ สหรัฐอเมริกา 977.jpg

ตลอด 5 ปี รัฐบาลทหาร ผู้นำการยึดอำนาจนั้นไม่เคยกระมิดกระเมี้ยนต่อการแสดงออกถึงอาการ 'หงุดหงิด' กับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ บัตรทอง หรือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า ที่ทุกรัฐบาลต่างสานต่อ และภาคประชาสังคมต่างมุ่งหวังว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐสวัสดิการให้ประเทศไทย โดยเริ่มจากการปลดความทุกข์ของการป่วยไข้ให้คนไทยทั้ง 65 ล้านไม่ต้องล้มละลายอีกต่อไป 

เมื่อ 5 ม.ค. 2559 ระบุว่า "หากให้ใช้เงินมาอุดหนุนราคายางก็จะได้ยกเลิกโครงการ 30 บาท เอามาจ่ายชดเชยค่ายางค่าข้าวให้หมดไป เพราะตนเองมีเงินเท่านี้ และตอนนี้กำลังสร้างให้ทุกอย่างเข้มแข็งขึ้น" 

ล่วงถึงกลางปี 2560 เริ่มเคลื่อนไหวสู่การปฏิบัติ เมื่อมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ใช้มากว่า 17 ปี นำไปสู่การคัดค้านจากภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง ขึ้นป้ายแขวนว่า 'แก้กฎหมาย=ล้มบัตรทอง' ส่วนเวทีประชาพิจารณ์ก็ล่ม เพราะเล็งเห็นเนื้อที่แอบแฝง มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบอร์ด สปสช. ระบบรวมซื้อ ปลายทางคือดึงอำนาจทุกอย่างกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุขดังเดิม 

6 มี.ค. 2561 คราวนี้เป็น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พูดในนามนายกฯ ระบุว่า "จากการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าในหลายประเทศที่มีการเพิ่มงบประมาณในเรื่องหลักประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ตอนนี้เจ๊งไปแล้ว หลายประเทศจึงเปลี่ยนแปลงเป็นการสนับสนุนเฉพาะบางกลุ่ม บางโรค นายกฯจึงฝากเป็นข้อมูลให้ทุกคนช่วยกันศึกษา" 

"เพราะรายได้ของรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย อัตราภาษีที่เคยเก็บได้ ทั้งจากบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม แล้วอย่างนี้ประเทศจะมีงบประมาณไปทำอย่างอื่นได้หรือไม่ นายกฯขอให้ทุกคนไปคิดวิธีแบ่งเบาภาระของชาติ"

ต่อเนื่องด้วยเมื่อ 12 ธ.ค. 2561 นายกรัฐมนตรี ประกาศก่อนการเลือกตั้งที่สวนสาธารณะหนองบึงกาฬและบึงสวรรค์ จ.บึงกาฬ ว่า

"รัฐบาลต้องดูแลสวัสดิการในด้านอื่นๆ ทังด้านสาธารณสุข การศึกษาเป็นต้น วันนี้การรักษาพยาบาลฟรีต้องดีกว่าเดิม ซึ่งใครขึ้นมาก็แล้วแต่ตนไม่เรื่องในการรักษาพยาบาล 30 บาท ซึ่งประชาชนชน แต่โรงพยาบาลเจ๊งหมดแล้วทำอย่างไรคิดตรงนี้หรือไม่"


  • ขึ้นเวทีโลก 'อวดอ้าง-ยกหาง' เป็นกูรู 

กลับกันเมื่อผู้นำรัฐประหารขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศกลับหยิบยก 'นโยบายสาธารณะ' ตลอด 17 ปี ที่คนไทยทุกกลุ่มได้จับต้องขึ้นมา 'อวดอ้าง'ต่อประชาคมโลกในครั้งแรก เมื่อ 29 ก.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ระบุว่า

"นอกจากนี้ปัญหาข้ามชาติอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ปัญหาโรคระบาด ยาเสพติด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ ไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการและแนวปฏิบัติที่ดีของไทย อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเฝ้าระวังโรคติดต่อต่างๆ และการพัฒนาทางเลือกอย่างครบวงจรและยั่งยืน" 

ไม่เพียงเท่านั้น ปลายปี เมื่อ 21 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ ก็สถาปานาตนเองเป็นผู้รู้ สั่งสอนเพื่อนบ้าน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 27 กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ว่า "นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไทยพร้อมจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านนี้" 


ทักษิณ บัตรทอง 30 บาท หลักประกันสุขภาพ tled.jpg

(รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนผลักดันให้เกิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จุดเริ่มต้นมาจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.เป็นผู้คิดค้น ทำให้ถูกเรียกขานว่า หมอหงวนคิด ทักษิณทำ )

  • แทบไร้นโยบาย พบ 'หลักประกันสุขภาพ' แค่ 1 คำ กับ 1 ประโยค 


79705069-9F10-4FB1-9C47-A550AA0226C9.png


จะพบได้ว่าในสายตาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์1-2 ตลอด 5 ปีกว่าที่ผ่านมา งบประมาณหลักประกันสุขภาพ กลายเป็นคือภาระของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ

เพราะมีความพยายามแก้ไขกฎหมาย ทำให้กลายเป็นระบบสังคมสงเคราะห์

ซึ่งความจริงใจและเจตนาซ่อนเร้นของพล.อ.ประยุทธ์นั้น ยังสามารถย้อนดูได้จากนโยบายของครม.ประยุทธ์2 ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 สดๆร้อนๆ

จากการสืบค้นเอกสารจำนวน 66 หน้า พบว่า มีคำว่า 'สุขภาพ' เพียง 26 คำ คำว่า 'หลักประกันสุขภาพ' แค่ 1 คำ หากเปรียบเทียบกับวิชาชีพของพล.อ.ประยุทธ์ที่ไต่เต้ามาจากกองทัพนั้นจะเห็นได้เลยว่า 'ความเจ็บป่วย' ของคนไทยนั้น ได้รับความสำคัญน้อยกว่า คำว่า 'ความมั่นคง' ที่มีถึง 52 คำ

คำว่า 'หลักประกันสุขภาพ' กล่าวขยายความแค่เพียง 1 ประโยค ในนโยบายหลักข้อที่ 9.1 ระบุว่า "ยกระดับหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบบนหลักพื้นฐานประสิทธิภาพและความยั่งยืนของประเทศ" เท่านั้น ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีการแถลงนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ระบุถึงที่มาและรายได้ตามม.162ของรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง