ไม่พบผลการค้นหา
หนึ่งในวาระที่จะเสิร์ฟลงบนโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรี 'เศรษฐา ทวีสิน' วันแรก - ครั้งแรก คือการทำประชามติเพื่อขอ “ฉันทามติ” แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ถัดจากวาระแก้เศรษฐกิจ - ปากท้อง ลดค่าพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า พักหนี้เกษตรกร ไล่ไปถึงวาระขอทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ

ตามนโยบายของ “เศรษฐา” มองว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอุปสรรคในการที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้โดยลำบาก และประเทศชาติเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะอะไรที่จะเดินข้างหน้าได้หลายๆ เรื่องกฎอยู่ร่วมกันสำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่พิกลพิการ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ระบุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในหมวดนโยบายด้านระบบการเมือง โดยจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ

“ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อและรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม่ทัพกฎหมายในสภาของพรรคเพื่อไทย จึงฉายภาพภารกิจแก้รัฐธรรมนูญว่า

พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาคำถามประชามติในการประชุม ครม.มีคำถามที่เห็นตรงกันในพรรคคือ 

“จะเห็นชอบการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ยกร่างหรือไม่”

แม้จะยังมี สว.ปัจจุบันยังร่วมอยู่ในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่า สว.น่าจะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เพราะประชาชนเห็นชอบแล้ว ไม่ควรฝืนมติประชาชน คาดว่าเวลากว่า 3 ปีครึ่งจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ชูศักดิ์ -74CE-4E7F-BE35-A10FD12BC060.jpeg

แกะรอย ส.ส.ร.ของพรรคเพื่อไทย สมัยที่เคยเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่แล้ว ที่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช….แม้ท้ายที่สุดจะถูกคว่ำไป แต่สามารถยกมาเป็น “พิมพ์เขียว” ในการจัดตั้ง ส.ส.ร.ได้ แบ่งเป็น 19 ขั้นตอน ดังนี้

1. ให้มี ส.ส.ร. 200 คนทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2. ให้ กกต.จัดให้มีการเลือก ส.ส.ร.ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

3. กำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร

4. ให้ กกต.แนะนำตัวผู้สมัครอย่าง “เท่าเทียมกัน”

5. การลงคะแนนให้ลงคะแนนโดยตรงและลับ ให้มีผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ตามจำนวน ส.ส.ร.พึงมีในจังหวัดนั้น และจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด หรือไม่ลงคะแนนให้ก็ได้

6. ส.ส.ร.ให้มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวน 200 คน โดยให้คำนวนจำนวน ส.ส.ร.ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

7. จังหวัดไหนที่ราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน

8. จังหวัดไหนที่ราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

9. ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดไหนที่มีเศษเหลือจาการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.ด้วยวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือลำดับรองลงมา จนครบจำนวน 200 คน

10. ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

11. ให้ ส.ส.ร.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 1 คณะ จำนวน 29 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ ส.ส.ร.กำหนด ประกอบด้วย ส.ส.ร.15 คน โดยคำนึงถึงภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขานิติศาสตร์ 5 คน ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ 5 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินและการร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน

12. ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 240 วัน นับแต่ที่มีการประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก ซึ่งต้องจัดไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ร.

13. การยุบสภา หรือ สภาครบวาระไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ร.

14. หลังจาก ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้เสนอต่อประธานรัฐสภา และให้ส่งต่อไปยัง กกต.ภายใน 7 วัน นับแต่ที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญจาก ส.ส.ร.

เพื่อไทย ชลน่าน ชวน ประธานรัฐสภา ยื่นร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ C-AB32-87C2151E9D96.jpegรัฐธรรมนูญ รัฐสภา -D8D6-4E7A-84CB-C0DB75A0FFE3.jpeg

15. ให้ กกต.กำหนดวันลงประชามติไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากสภา

16. ให้ กกต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชน เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท

17. เมื่อออกเสียงประชามติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากผลประชามติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ หากไม่เห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

18. หากร่างรัฐธรรมนูญตกไป คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.และ ส.ว.มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้” การออกเสียงลงคะแนนจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของ 2 สภา

19. บุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร.จะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างน้อยประชาชนต้อง “เข้าคูหา” 3 ครั้ง

ครั้งแรก ทำประชามติถามประชาชนว่า “จะเห็นชอบการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้ยกร่างหรือไม่”

ครั้งที่สอง เลือกตั้ง ส.ส.ร.

ครั้งที่สาม ทำประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ ร่างโดย ส.ส.ร.หรือไม่

เป็นเหตุผลว่าทำไมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องใช้เวลา 3 ปี