ไม่พบผลการค้นหา
ผลการลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกผู้นำพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 เมื่อที่ประชุมวิสามัญลงคะแนนเสียงให้ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไปครอง ด้วยคะแนนชนะคิดเป็นร้อยละ 50.5 โดยมี ส.ส. 52 คนลงคะแนนให้ 'จุรินทร์' ถึง 25 เสียง

พรรคประชาธิปัตย์ที่มีอายุถึง 73 ปี จึงเข้าสู่ยุคนับ 1 ของ 'จุรินทร์' นับจากนี้

เป็นการเริ่มต้น หลังปิดฉากภายใต้ผู้นำพรรคอย่าง 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคคนที่ 7 ซึ่งครองเก้าอี้ประมุขพรรคมาถึง 14 ปี

เป็น 14 ปีที่ผ่านมาซึ่งไม่มีครั้งใดที่ 'อภิสิทธิ์' จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้แม้แต่ครั้งเดียว

ปี 2548 - 2562 คือยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับการรัฐประหาร หยุดกระดานเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง ภายใต้การนำของ 'อภิสิทธิ์'

เลือกตั้ง 3 ครั้งในยุคอภิสิทธิ์ ได้ ส.ส.เพียงอันดับ 2 ถึง 2 ครั้ง

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 คือบทพิสูจน์และคำตอบถึงการเดินนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศเป็นแคมเปญขั้วที่สามของการเมืองไทย คือ ประชาธิปัตย์ ประชาธิปไตยสุจริต

ประชาธิปไตยสุจริตของพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้กวาดที่นั่งส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเพียง 52 ที่นั่ง (ส.ส.เขต 33 คน และ บัญชีรายชื่อ 19 คน) เป็นพรรคการเมืองอันดับ 4 ในสภาฯ

"ประชาธิปัตย์ ถึงเวลาต้องเปลี่่ยนแต่คำว่าเปลี่ยน ไม่ใช่สักแต่ว่าเปลี่ยน ประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีก็ต้องรักษาไว้ อะไรสมควรเปลี่ยนก็ควรเปลี่ยน 1.อุดมการณ์ต้องไม่เปลี่ยน อุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องไม่เปลี่ยน อุดมการณ์มุ่งมั่นแน่วแน่ทำงานเพื่อประชาชนต้องไม่เปลี่ยน ประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรค 7 คน หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ไม่มีสิทธิอยู่นอกเหนืออุดมการณ์ซื่อสัตย์ สุจริต"

"นโยบายต้องเปลี่ยนให้ทันกับโลกและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ต้องเปลี่ยนระบบบริหารจัดการที่เป็นสิ่งจำเป็น ระบบเอไอต้องถูกนำมาใช้วิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจเพื่อเดินหน้าสู่ความทันสมัย" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 ระบุในการแสดงวิสัยทัศน์ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2562

จุรินทร์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 

พรรคประชาธิปัตย์แบ่งแยกความเห็นต่างเป็น 2 ขั้ว 2 ก๊ก 

เมื่อขั้วหนึ่งของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสายชวน หลีกภัย ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเท่ากับเป็นการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช.

ในขณะที่อีกก๊กหนึ่ง สาย กปปส. มีจุดยืนที่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นั่นจึงเป็นที่มาของการประสานความเป็นเอกภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านคำพูดของ 'จุรินทร์' 

"ยุคต่อไปต้องเป็นยุคของอเวนเจอร์ ซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหลายของประชาธิปัตย์ต้องจับมือร่วมกันเป็นทีมอเวนเจอร์ของประชาธิปัตย์ เพื่อนำทัพประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้า"

"วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เหลือแค่ 52 เสียง คนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต้องคิดทำอย่างไรให้เป็น 53 เป็น 54 เป็น 100 เป็น 200 และมากกว่า 200 ในอนาคต"

ทิศทางการเมืองนับ 1 หลังจากวันที่ได้เห็นโฉมหน้าคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่จึงมีผลต่อการเมืองไทยหลังจากนี้ไม่น้อย

เพราะขณะนี้มี พ.ร.ฎ.เรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 ให้มีการเปิดประชุมรัฐสภานับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.นี้เป็นต้นไป

รวมทั้งยังมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว. 250 คนที่มาจากการสรรหาของ คสช.

ก่อนที่รัฐสภาจะเปิดขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ค. พรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องตัดสินใจเลือกขั้วทางการเมือง

ท่ามกลางโมเดลการเมืองขั้วที่สาม ที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการให้พรรคขนาดกลาง อย่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีเสียง ส.ส.รวมกัน 103 เสียงประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจน และทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง

หากย้อนกลับไปดูวาทะที่ 'จุรินทร์' เคยให้ไว้ก่อนเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 2562

ล้วนมีทิศทางที่สอดรับกับจุดยืนของ 'อภิสิทธิ์' คือ ไม่ต้องการประชาธิปไตยทุจริต และไม่ต้องการประชาธิปไตยวิปริต

จุรินทร์ สุดารัตน์

'จุรินทร์' เคยระบุผ่านเวทีดีเบตของ 'วอยซ์ ทีวี' เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2562

"ประชาธิปไตยมีหลายแบบ ประชาธิปไตยทุจริตก็มี ประชาธิปไตยวิปริตก็มี หลักการมันไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสุจริตก็มี ทั้งหมดนี้ประชาธิปไตยสุจริตเป็นสากล ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่งและไม่ใช่สมบัติของพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในอุดมการณ์นี้ นอกจากยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยแล้ว ยังต้องเป็นประชาธิปไตยซื่อสัตย์ สุจริตด้วย เพราะไม่เช่นนั้นเรามีบทเรียนมามากแล้ว เมื่อมีการทุจริตเมื่อไรก็อ้างเป็นเหตุทุจริตนำไปสู่การยึดอำนาจ เกือบจะเรียกว่าทุกครั้ง"

'จุรินทร์' ยังเคยปราศรัยเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2562 ในเวทีปราศรัย "ปฏิญญาทุ่งสง" คืนความเป็นธรรม สู่ความเท่าเทียม จ.นครศรีธรรมราช ว่า

"จุดยืนประชาธิปไตยของประชาธิปไตยก็คือ ประชาธิปไตยสุจริตเราไม่เอาประชาธิปไตยทุจริต เพราะประชาธิปไตยทุจริตคือต้นเหตุของการยึดอำนาจ"

"ประชาธิปัตย์พร้อมเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง ถ้ามีเสียงมากพอ ขอยืมคำพูดท่านชวน หลีกภัยมาพูดกับพี่น้อง หลังเลือกตั้งไม่ต้องถามว่าเราจะไปร่วมรัฐบาลกับใคร แต่หลังเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ขอถามว่าใครจะมาร่วมรัฐบาลกับเราครับพี่น้อง นี่คือจุดยืน เรามั่นใจพร้อมบุคคล นโยบาย และจุดยืนชัดเจนทางการเมือง"

"การเลือกตั้งเที่ยวนี้ เป็นการแข่งขันระหว่าง 3 ขั้วการเมือง พี่น้องมี 3 ทางเลือก 1.ประชาธิปไตยทุจริต ทุจริตวันไหนยึดอำนาจ ประชาธิปไตยบ้านเมืองไปไม่รอด 2.ประชาธิปไตยวิปริต ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง ที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ประชาชนคนไทยเลือกผู้แทนทั้งสภา 500 คน แต่คนไม่กี่คนยึดอำนาจเลือก ส.ว. 250 คน รวมเป็น 750 คน แต่ 250 คนที่เป็นส.ว.ไปเลือกนายกฯ รวมกับคนของประชาชน 500 คนได้ด้วย นี่คือประชาธิปไตยวิปริตแล้วยุคประชาธิปไตยวิปริตได้แต่ความสงบ แต่ประชาชนท้องหิว"

NewDem-ประชาธิปัตย์

'จุรินทร์' ยังพูดผ่านเวทีปราศรัยใหญ่ที่ลานคนเมือง กทม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2562 ถึงจุดยืนของพรรคว่า

"จุดยืนของประชาธิปัตย์ก็คือ ประชาธิปัตย์มีจุดยืน ประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น และต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดีเด็ดขาด"

"ใครรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้คนนั้นต้องรัฐบาล ใครเป็นเสียงข้างน้อยคนนั้นเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน แล้ว 4 ปี พบกันใหม่ ให้ประชาชนตัดสิน แล้วการเมืองจะเดินหน้าไปได้ ที่สำคัญประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยวิปริต ผิดเพี้ยนไปจากหลักการ ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยทุจริตที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายแต่ต้องประชาธิปไตยสุจริต"

'จุรินทร์' เน้นย้ำผ่านเวทีปราศรัยลานคนเมืองถึงขั้วการเมืองไม่ได้มีเพียง 2 ขั้วอีกครั้ง แต่มีขั้วการเมืองก๊กที่ 3 คือขั้วพรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนข้างประชาธิปไตยสุจริต

"ถ้าสมมติพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนตั้งรัฐบาลเขาประกาศชัดเจนแล้วจะเอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ถ้าพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเดิม ถ้าเขาเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเขาจะเอาใครเป็นนายกฯ เมื่อวานผมถือโอกาสตอนออกช่อง 3 ถามคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ให้รู้แล้วรู้รอดไปว่าถ้าเกิดพรรคเพื่อไทยเป็นแกนตั้งรัฐบาลตกลง 3 คนที่ว่าใครจะเป็นนายกฯตัวจริงกันแน่ สุดท้ายคุณหญิงสุดารัตน์บอกว่า ขอให้เลือกไปก่อน แล้วหลังเลือกตั้งก็จะกลับไปถามสมาชิกพรรคทั้งประเทศว่า 3 คนนั้นจะให้ใครเป็นนายกฯ แปลว่าถ้าลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทยยังไม่รู้ใครเป็นนายกฯ ต้องหลังวันที่ 24 มี.ค. จะรู้ใครเป็นนายกฯ"

"ประชาธิปัตย์ชัดเจนตั้งแต่ต้น ถ้าพี่น้องลงคะแนนเลือกผู้แทนประชาธิปัตย์ทั้งหมดเป็นผู้แทนราษฎร รวมผมด้วย วันที่เลือกนายกฯ ประชาธิปัตย์จะไปลงคะแนนเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกฯ ผมถึงบอกว่า 3 ขั้วต่างกันโดยสิ้นเชิง"

จุรินทร์ประชาธิปัตย์

ยิ่งย้อนไปเหตุการณ์เวทีปราศรัยใหญ่ที่ กทม.โซนเหนือ ที่ชุมชนเคหะท่าทราย เขตหลักสี่ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2562

'จุรินทร์'ยังคงย้ำถึงภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจุดยืนไม่นำประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเช่นอดีต

"ประชาธิปัตย์จะไม่นำพาประเทศไปสู่วังวนการยึดอำนาจ เพราะถ้าประชาธิปัตย์เข้าไปบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ประชาธิปัตย์จะไม่โกง"

"หลังเลือกตั้งใครรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้คนนั้นก็เป็นรัฐบาล ใครเป็นเสียงข้างน้อยคนนั้นก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบแทนประชาชน หลังเลือกตั้งจะมีสองฝ่ายที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ประชาธิปไตย คือฝ่ายหนึ่งรัฐบาล อีกฝ่ายคือฝ่ายค้าน ใครแพ้ก็เป็นฝ่ายค้าน"

"จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง ประชาธิปัตย์ไม่บังคับคนเลือกข้าง ไม่บังคับว่านั่นประชาธิปไตย นี่เผด็จการ ประชาธิปัตย์ไม่ผูกขาดความเป็นประชาธิปไตยไว้คนเดียว ใครเห็นไม่ตรงกับเรา คนนั้นถูกยัดเยียดให้เป็นเผด็จการ ประชาธิปัตย์ไม่ทำอย่างนั้น"

"หลังการเลือกตั้งใครจะแพ้ใครจะชนะก็เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา ถ้าบังคับคนเลือกข้างนั่นประชาธิปไตย นี่เผด็จการ ถ้าประชาธิปไตยชนะ เผด็จการก็ไม่ยอม นั่นเผด็จการชนะ ประชาธิปไตยก็ไม่ยอม สุดท้ายบ้านเมืองก็กลับสู่วังวนแห่งความขัดแย้งอีกรอบหนึ่ง"

นี่คือวาทะที่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 เคยประกาศก่อนการเลือกตั้ง

จุดยืนทิศทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จะเดินไปทิศทางใด จะเลือกขั้วพรรคพลังประชารัฐ หรือเลือกขั้วพรรคเพื่อไทยกับฝ่ายประชาธิปไต���

หรือจะยึดตามจุดยืนเดิมที่ให้ไว้ก่อนเลือกตั้ง คือขั้วประชาธิปไตยสุจริตหรือขั้วที่สาม หรือจะเป็นขั้วฝ่ายค้านอิสระ

อีกไม่นานที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุด 'จุรินทร์' จะต้องให้คำตอบต่อสาธารณะก่อนเปิดสภาฯ เพียงคำตอบเดียวเท่านั้น

เป็นคำตอบเดียวที่ ส.ส.ในพรรคต้องปฏิบัติตามมติพรรค

เพราะ 'ประชาธิปัตย์' 52 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ระบบเลือกตั้งสูตรจัดสรรปันส่วนผสมนี้ ซึ่งออกแบบให้พรรคขนาดกลางมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล คือเสียงที่มีความหมายต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

และต้องตรงกับคำประกาศของหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่เคยบอกไว้ว่า "ประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยวิปริต"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง