ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แนะนำประชาชนให้รู้จักใช้ทางหยุดรถฉุกเฉิน เมื่อเกิดปัญหาเบรกแตกขณะลงเขา เพื่อช่วยลดความสูญเสีย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ
นายแพทย์ ธนพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. กล่าวถึงเหตุการณ์รถบัสเบรกแตกขณะเข้าโค้ง บนถนนสายตาก-แม่สอด เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาว่า รถบัสคันนี้เลือกใช้ 'ทางหยุดรถฉุกเฉิน' จึงไม่เกิดอุบัติเหตุกับรถคันอื่นๆ หรือตกเหวจนเกิดความสูญเสีย
ปัจจุบันในประเทศไทย จะมีทางหยุดรถฉุกเฉินบนถนนหลายแห่ง ส่วนใหญ่มักอยู่บนถนนที่ลงเนินเขาติดต่อกันประมาณ 3-5 กิโลเมตร และมีความลาดเอียงเกินร้อยละ 7 เช่น ถนนดอยรวก จังหวัดตาก และถนนนาดี สาย 304
นายแพทย์ธนพงศ์ เสนอว่า หน่วยงานรัฐและท้องถิ่น ควรใส่ใจดูแลทางหยุดรถฉุกเฉิน เช่น การติดป้ายบอกระยะทางก่อนถึงทางหยุดรถฉุกเฉิน การสร้างจิตสำนึกให้คนไม่จอดรถบนทางหยุดรถฉุกเฉิน
รวมถึงการตรวจสอบความพร้อมอย่างสม่ำเสมอ เพราะพบว่าในหลายพื้นที่มีชาวบ้านลักลอบตักกรวดไปขาย ทำให้ทางหยุดรถฉุกเฉิน ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐควรใส่ใจการลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุมากกว่าการป้องกัน โดยต้องยอมรับว่า อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับแนวคิดของการสร้างทางหยุดรถฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับข้อผิดพลาด และลดความสูญเสีย