ไม่พบผลการค้นหา
การประชุมผู้นำเมืองเอเชีย-ยุโรป เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจาก กรุงเทพมหานคร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างยิ่งใหญ่ การประชุมครั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้รับเกียรติให้นำเสนอโครงการป้องกันอุทกภัยของกรุงเทพฯ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

การประชุมผู้นำเมืองเอเชีย-ยุโรป เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจาก กรุงเทพมหานคร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างยิ่งใหญ่ การประชุมครั้งนี้ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้รับเกียรติให้นำเสนอโครงการป้องกันอุทกภัยของกรุงเทพฯ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตนเองยกให้เมืองรอตเตอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์  เนื่องจาก รอตเตอร์ดาม ไม่เพียงวางระบบเผื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะสั้นเท่านั้น แต่มองไกลกว่า 100 ปี

รอตเตอร์ดาม เป็นเมืองที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมื่อปี 2469 เคยประสบเหตุน้ำทะเลยกตัวสูงเกือบ 5 เมตรซัดเข้าฝั่ง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคน เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้บริหารเมืองและชาวเนเธอร์แลนด์ตระหนักว่า เมืองจำเป็นต้องมีวิธีการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว (ที่ไม่ใช่วิธีการอพยพขึ้นที่สูง)  และระบบการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และรูปแบบของฝนที่เปลี่ยนแปลงไป จากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

หลังผ่านวิกฤตไปได้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือ Delta Commission ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบและจัดทำแผนป้องกันน้ำอย่างยั่งยืน เช่น โครงการ Delta Works ที่มีการก่อสร้าง เขื่อน, คันดิน และพนังกั้นน้ำกว่า 16 จุด ตลอดแนวฝั่งตะวันตกของประเทศ และแม้เวลาผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี แต่โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังมีการรับประกันด้วยว่า สิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมเหล่านี้จะป้องกันน้ำท่วมเมืองได้นับ 10,000 ปี

 อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บริหารเมืองรอตเตอร์ดาม ยอมรับว่า เฉพาะเขื่อนกั้นน้ำกับพนังกั้นน้ำอาจไม่สามารถรองรับสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะในสภาวะโลกร้อน ที่พบว่า ฝนตกในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงมีแนวคิดป้องกันน้ำท่วม ด้วยการเนรมิตให้รอตเตอร์ดามกลายเป็น "เมืองฟองน้ำ" โดยการสร้างพื้นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิง กระจายตามพื้นที่ต่างๆทั่วเมือง เช่น พื้นที่จอดรถใต้ดิน, สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิก 4 แห่ง, หรือ อาคารลอยน้ำ คล้ายบ้านเรือนแพ แต่เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบอย่างงดงาม นอกจากนี้ ยังรวมถึง พื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะบนหลังคาและดาดฟ้า ที่ปกคลุมด้วยพืชดูดซึมน้ำฝน

ตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ คือ Water Plaza Benthemplein จัตุรัสสาธารณะสำหรับรับน้ำฝนแห่งแรกของโลก ในยามปกติพื้นที่แห่งนี้จะเป็นสนามกีฬาหลากหลายประเภท เช่น บาสเกตบอล ฟุตบอล สเก็ต หรือเป็นโรงละครกลางแจ้ง  แต่ความพิเศษคือสนามเหล่านี้ถูกสร้างต่ำกว่าที่ราบปกติ แล้วรายล้อมด้วยอัฒจันทร์เป็นขั้นบันได กลายเป็นอ่างรับน้ำ พร้อมกับวางท่อระบายน้ำที่เชื่อมกับหลังคาด้วย

ในกรณีที่ฝนตกหนักมาก เกินกว่าที่ระบบระบายน้ำทำงานได้ทัน (เช่นที่ประสบบ่อยครั้งในกรุงเทพฯ) จัตุรัสแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ ที่สามารถรับน้ำได้สูงสุดถึง 1,700,000 ลิตร ก่อนที่น้ำจะค่อยๆระบายไปที่คลอง และระบบระบายน้ำ โดยขังบนถนนและเส้นทางสัญจร

แนวคิด เมืองฟองน้ำ ไม่ได้มีประโยชน์ในช่วงที่มีฝนตกหนัก หรือ พายุฝนฟ้าคะนองกระจาย เท่านั้น แต่สาระที่ซ่อนในนวัตกรรมรับมือน้ำท่วมเหล่านี้ คือ ประชาชนจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ เพื่อที่จะเตรียมตัวรับมือได้ถูกวิธี และไม่ตื่นกลัว

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog