"สุรินทร์" จังหวัดที่มีเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบไทย - ลาว - เขมร แต่ด้วยวัฒนธรรมสังคมเมือง มีบทบาทต่อค่านิยมคนรุ่นใหม่ ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกมองในด้านลบ
ขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านและหน่วยงานการศึกษาหาหนทางฟื้นฟู ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับความภาคภูมิใจวัฒนธรรมบ้านเกิด
เด็กหญิงพรทิดา ยิ่งรุ่งเรือง นักเรียนชั้นป.5 อ่านและเขียนภาษาเขมรถิ่นไทยอย่างคล่องแคล่ว หลังจากที่โรงเรียนบ้านปึล ตำบลบักได จังหวัดสุรินทร์ เพิ่มหลักสูตรสอนภาษาถิ่นให้กับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 และ 5 เนื่องจากความนิยมพูดภาษาท้องถิ่นเช่น ลาว กูยส่วย เขมรลดน้อยลง ทำให้ประเพณีและภาษาที่เป็นปัจเจกลักษณ์ชุมชนเลือนหายไป ปราชญ์ชาวบ้านและครูท้องถิ่น จึงร่วมกันหาหนทางแก้ไข โดยการบรรจุหลักสูตรภาษาถิ่นเข้าระบบการศึกษา โดยเน้นสร้างความภูมิใจในภาษาถิ่นกับเด็กนักเรียน
ด้วยลักษณะการสอนที่สนุกสนานและใช้สื่อการสอนภาษาถิ่นเช่น บัตรคำ หนังสือนิทานทำเอง สามารถดึงความสนใจและเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มเด็กรุ่นใหม่รักภาษาถิ่นมากขึ้น
นอกจากภาษาถิ่นแล้ว ประเพณี และโบราณสถานเป็นส่วนสำคัญในการปลูกจิตสำนึกให้เด็กนักเรียนตำบลบักไดได้มีส่วนร่วมสืบสานและเผยแพร่ เช่น โครงการมัคคุเทศน์น้อยที่กำลังทำหน้าที่บอกเล่ารายละเอียดปราสาทตาควาย
จากความตั้งใจใฝ่เรียนรู้ของเยาวชนเหล่านี้ ในศูนย์การเรียนรู้ 13 แห่ง คงทำให้ผู้ใหญ่ทั้งจากหน่วยงานการศึกษาภาครัฐ สถาบันท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน ใจชื้นได้ไม่น้อยว่าภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของดั้งเดิมมีผู้สืบสานแล้ว
Produced by VoiceTV