ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนอ่านลีกวนยูในหนังสือปี 2556 ชี้กลุ่มการเมืองชินวัตรลดความเหลื่อมล้ำคนรวย-คนจน ยกฐานะคนชั้นล่างเป็นคนชั้นกลาง คาดกองทัพไทยจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรกับทักษิณ

ย้อนอ่านลีกวนยูในหนังสือปี 2556  ชี้กลุ่มการเมืองชินวัตรลดความเหลื่อมล้ำคนรวย-คนจน ยกฐานะคนชั้นล่างเป็นคนชั้นกลาง คาดกองทัพไทยจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรกับทักษิณ

 

ในหนังสือที่ออกวางตลาดเมื่อราวเดือนสิงหาคม 2556 ชื่อ "One Man's View of the World" อดีตนายกรัฐมนตรีเจ้าของสมญานาม "บิดาแห่งสิงคโปร์สมัยใหม่" ลีกวนยู แสดงทัศนะต่อความเป็นไปของโลกในหลายแง่มุม ในตอนหนึ่ง เขากล่าวถึงอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร ในบทที่ 5 "Thailand : An Underclass Stirs" หน้า 185-191

 

 

ในบทความซึ่งเรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ The Strait Times ดังกล่าว ลีเริ่มต้นด้วยการชี้ว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของทักษิณได้พลิกโฉมการเมืองไทยไปอย่างถาวร ก่อนยุคทักษิณนั้น การประชันขันแข่งทางการเมืองจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำกรุงเทพ และปกครองเพื่อผลประโยชน์ของทุนชาติ แต่ทักษิณได้เข้าไปเปลี่ยนสถานะเดิม ด้วยการผันทรัพยากรที่ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางกรุงเทพเคยตักตวงให้ไปสู่คนยากจน ทำให้ชาวนาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ลีบอกในหนังสือซึ่งจัดพิมพ์โดย Singapore Press Holdings เล่มนี้ว่า ก่อนหน้ายุคทักษิณ นโยบายเน้นความเติบโตของกรุงเทพของรัฐบาลต่างๆก่อนหน้าเขา ทำให้เกิดช่องว่าง ทักษิณได้ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงช่องว่างนี้ และความไม่เป็นธรรมของนโยบายดังกล่าว แล้วเสนอนโยบายที่จะถมช่องว่างนี้เสีย นโยบายของทักษิณมุ่งให้ประโยชน์แก่คนยากจนในชนบทอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อาทิ กองทุนหมู่บ้าน ทุนเรียนต่างประเทศสำหรับนักเรียนจากชนบท บ้านเอื้ออาทร และ 30 บาทรักษาทุกโรค

 

ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ ผู้วายชนม์เมื่อ 23 มีนาคม 2558 กล่าวในบทที่ชื่อ “คนชั้นล่างฮึกเหิม” ว่า ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณมองว่า เขาสร้างความฉิบหายแก่ประเทศ ซึ่งไม่อาจยอมได้ คนเหล่านั้นบอกว่า ทักษิณเป็นนักประชานิยม นโยบายของเขาจะทำให้ประเทศล้มละลาย แต่เมื่อคนพวกนั้นขึ้นครองอำนาจจากเดือนธันวาคม 2551 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 พวกเขาก็ยังคงดำเนินนโยบายเหล่านี้ต่อไป

 

“คนพวกนี้กล่าวหาทักษิณว่า คอรัปชั่น ทำเพื่อธุรกิจของครอบครัว ไม่ชอบบริษัทของเขา โจมตีว่าเขาแทรกแซงสื่อ และไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามยาเสพติดและการแก้ปัญหาภาคใต้ ซึ่งมองข้ามสิทธิมนุษยชน แม้กระนั้น บรรดาชาวนาซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาลยังคงเลือกเขาในปี 2548 แต่ท้ายที่สุด ชนชั้นนำกรุงเทพไม่ยอมรับชายผู้นี้ ทักษิณถูกยึดอำนาจในการรัฐประหารในปี 2549” ลีกวนยูกล่าวในหนังสือของเขา

 

@  นายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร ต้อนรับอดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยู ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 3 ธันวาคม 2547 ระหว่างอดีตผู้นำสิงคโปร์เยือนประเทศไทย เป็นเวลา 4 วัน (photo: AFP) 

 

นับแต่นั้น เมืองหลวงของประเทศไทยได้เผชิญความโกลาหล มีการประท้วงของมวลชนเสื้อเหลืองซึ่งต่อต้านทักษิณ และการประท้วงของคนเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนทักษิณ แต่ทว่าการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2554 ได้ส่งน้องสาวของเขา ยิ่งลักษณ์ ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้ออกเสียงเลือกตั้งได้เลือกวิถีทางใหม่ที่ทักษิณได้เลือกให้แก่ประเทศไทย ชาวนาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ลิ้มรสชาติของการเข้าถึงทุน จะไม่ยอมปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป จนถึงขณะนี้ ทักษิณและพันธมิตรของเขาได้ชนะเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้งซ้อน ความพยายามของฝ่ายต่อต้านทักษิณนับว่าไร้ผล

 

ลียังกล่าวถึงบทบาทของกองทัพในการเมืองไทย ว่า กองทัพไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว กองทัพไม่อาจต้านทานเจตจำนงของผู้เลือกตั้งได้อย่างยืดเยื้อยาวนาน พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรของทักษิณ และเป็นไปได้ว่า ในท้ายที่สุด กองทัพจะยอมรับการกลับสู่ประเทศไทยของทักษิณ หากเขาให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่แก้แค้น

 

บิดาแห่งสิงคโปร์สมัยใหม่ กล่าวในที่สุดว่า ประเทศไทยไม่มีวันหวนกลับสู่การเมืองแบบเก่าแล้ว ซึ่งเป็นการเมืองที่ชนชั้นนำกรุงเทพผูกขาดอำนาจ ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปตามแนวทางที่ทักษิณได้ขับเคลื่อนไว้ ช่องว่างในมาตรฐานการครองชีพของผู้คนทั้งประเทศจะหดแคบลง ชาวนาจำนวนมากจะได้รับการยกระดับเป็นชนชั้นกลาง และจะช่วยหนุนส่งการบริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยจะมีอนาคตสดใส.

 

ต่อไปนี้ เป็นบทสัมภาษณ์ลีกวนยู โดยผู้สื่อข่าว The Straits Times แสดงทัศนะบางส่วนเกี่ยวกับประเทศไทย

 

ถาม: บางครั้ง อย่างน้อยเมื่อทศวรรษก่อน บุคคลชั้นนำในสิงคโปร์พูดถึงประเทศไทยว่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของสิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการผลิต การขนส่ง และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ตอบ: ดูที่ตั้งของไทยแล้วกัน คุณเลี่ยงกรุงเทพได้ แต่คุณไม่สามารถล่องเรือเลี่ยงสิงคโปร์ได้

ถาม: แล้วทางอากาศล่ะ

ตอบ: คนไทยมีทักษะ มีการศึกษา สูงขนาดไหนล่ะ คนไทยต้องมีดีกว่าเราให้ได้เสียก่อน

ถาม: คนไทยมีศักยภาพที่จะเหนือกว่าเราไหม

ตอบ: ข้อแรก เราได้เปรียบในเรื่องภาษาอังกฤษ ข้อสอง เรามีสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตคุณภาพสูง ทั้งพวกที่เรียนจบจากโพลีเทคนิค และจากสถาบันเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีใครเป็นคนไร้ทักษะ ประเทศไทยจะพัฒนาเรื่องพวกนี้รองรับประชากร 60 ล้านคนในเขตชนบทได้หรือเปล่า

 

Q: There was a time, at least a decade ago, when Singapore leaders were talking about Thailand as a serious competitor to Singapore, as a transport, manufacturing and medical tourism hub. Is that still the case?

 

A: Look at their geography. You can bypass Bangkok but you cannot bypass Singapore by ship.

 

Q: What about by air?

 

A: How high are their skills and education? They have to be better than us.

 

Q: Do they have the potential to be better than us?

 

A: First, we have the advantage of the English language. Second, we have an education infrastructure that has been producing high quality graduates, those from the polytechnics and those from the ITEs. Nobody goes without some skill. Can they develop that for 60 million people spread across the rural areas?

 

 

Video: SPH Razor

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog