ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ชี้แจง ไม่มีการระบาดของแมลงริ้นฝอยทราย ที่เป็นพาหะของโรคผิวหนังที่อันตรายถึงชีวิตในไทย ตามที่เป็นข่าวในโลกออนไลน์ขณะนี้

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ชี้แจง ไม่มีการระบาดของแมลงริ้นฝอยทราย ที่เป็นพาหะของโรคผิวหนังที่อันตรายถึงชีวิตในไทย ตามที่เป็นข่าวในโลกออนไลน์ขณะนี้

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน ผศ.นพ.นิสิต วรรธนัจฉริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปรัชญา สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.นพ.ชัยวัฒน์ บำรุงกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าว กรณีมีการเผยแพร่ข่าวในสังคมออนไลน์ เรื่องมีแมลง Sandfly นำโรค Leishmaniasis (โรคลิชมาเนีย) ระบาดที่เชียงใหม่ และพบคนไข้แล้วกว่า 20 ราย โดยมีการนำรูปของแมลง Sandfly และตัวคุ่น หรือริ้นดำ และเผยแพร่ภาพแผลบริเวณผิวหนังผู้ป่วยที่ถูกแมลงกัดมาประกอบ ก่อให้เกิดกระแสตื่นตระหนกและเกิดความสับสน จึงขอชี้แจงว่า จากการติดต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สอบถามเรื่องดังกล่าว ว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งได้พูดคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งเกี่ยวกับโรคดังกล่าวที่พบในจังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่าโรคดังกล่าวอันตรายร้ายแรงจึงได้เตือนกันในกลุ่มไลน์ ส่วนตัวเลขจำนวนผู้ป่วยกว่า 20 คนนั้น เป็นยอดสะสมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้พบว่าในอดีต โรคนี้เคยพบในผู้ทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง และพบการติดเชื้อในไทยกว่าสิบจังหวัด ในทุกภาค ภาคเหนือพบในจังหวัดน่าน เชียงราย ลำพูนและเชียงใหม่ เท่าที่พบมีเชื้อ 2 ชนิด คาดว่าจะเกิดจากเชื้อในสัตว์ชนิดฟันแทะ ที่ถ่ายทอดมาสู่คน โดยมีแมลง sandfly หรือ ริ้นฝอยทราย เป็นพาหะ โดยพบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ปรากฏอาการน้อยมาก จึงไม่ควรวิตกกังวลเกินเหตุ

สำหรับแมลงริ้นฝอยทราย ในประเทศไทยมีทั้งหมด 26 สปีชี่ มีลักษณะ ที่เป็นพาหะนำโรค 12-20 สปีชี่ จะกัดในเวลากลางคืน ในภาคใต้จะพบเชื้อดังกล่าวในหนูดำเป็นสัตว์เพาะเชื้อ โอกาสน้อยมากที่จะถ่ายทอดจากคนสู่คน ส่วนใหญ่จะมาจากสัตว์ฟันแทะ สำหรับอาการจะมีทั้งผิวหนังและอวัยวะภายใน เป็นแผลเรื้อรังขอบแข็งไม่เจ็บแต่ไม่หาย อาการจะเป็นไข้เรื้อรัง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ตับและม้ามโต ต้องทำการวินิจฉัยทางเลือด พยาธิ ไขกระดูก หากไม่รักษาก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งหากใช้วิธีรักษาเชื้อรา ประมาณสองสัปดาห์ก็หายได้

 

ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog