หลังจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของญี่ปุ่น เราจะมาดูโครงสร้างของกระทรวงต่างๆ ซึ่งมีเพียง 11 กระทรวงเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนกระทรวง ทบวง กรม น้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในทวีปเอเชีย โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีกระทรวงที่ทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น 11 กระทรวง ประกอบไปด้วย
1.กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร
2.กระทรวงยุติธรรม
3.กระทรวงการต่างประเทศ
4.กระทรวงการคลัง
5.กระทรวงศึกษา,วัฒนธรรม, กีฬา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6.กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคม
7.กระทรวงเกษตร, ป่าไม้และประมง
8.กระทรวงเศรษฐกิจ, การค้าและอุตสาหกรรม
9.กระทรวงที่ดิน, ระบบสาธารณูปโภค, คมนาคมและการท่องเที่ยว
10.กระทรวงสิ่งแวดล้อม
11.กระทรวงกลาโหม
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในหลายๆกระทรวง มีการควบรวมงานที่ใกล้เคียง มาบริหารงานร่วมกัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากปี 2544 รัฐบาลในสมัยนั้น ประกาศปฏิรูปการบริหารราชการครั้งใหญ่ เพื่อปรับตัวให้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ดังนั้น การบริหารราชการจึงไม่ควรซ้ำซ้อนกัน ต้องมีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน
ซึ่งกระทรวงที่ถูกยุบรวมกับกระทรวงอื่นได้แก่ กระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงเศรษฐกิจ, การค้าและอุตสาหกรรม กระทรวงการก่อสร้าง และกระทรวงคมนาคม ถูกยุบรวบไปอยู่กับกระทรวงที่ดิน, ระบบสาธารณูปโภค, คมนาคมและการท่องเที่ยว กระทรวงกิจการภายใน ที่ปัจจุบันขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร กระทรวงไปษณีย์และโทรคมนาคม ถูกแยกไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร ส่วนงานไปรษณีย์มีการตั้งขึ้นเป็นสำนักงานไปรษณีย์ญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการควบรวมกับหน่วยงานอื่น กลายเป็นกระทรวงศึกษา,วัฒนธรรม, กีฬา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข รวมเป็นกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการสังคม
อย่างไรก็ตาม ในสมัยของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ รัฐบาลจึงจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมา เพื่อเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งลักษณะของหน่วยงานดังกล่าว มีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง และมีรัฐมนตรีรับผิดชอบ เช่น หน่วยงานการแก้ปัญหาวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หน่วยงานด้านการดูแลผู้บริโภคและความปลอดภัยของอาหาร หน่วยงานด้านการก่อสร้างทดแทนพื้นที่ที่เสียหายจากเหตุสึนามิ และหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น
Produced by VoiceTV