ทำความรู้จักกับมาตรการทางวิศวกรที่เรียกว่า 'Traffic Calming'ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงผู้ใช้ทางเท้า
'เส้นหยักซิกแซก' เป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเขตทางข้าม ทำให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกว่าช่องจราจรแคบลง ควบคู่กับเส้นชะลอความเร็ว ลูกศร และข้อความลดความเร็ว เพื่อย้ำเตือนให้ผู้ขับรถพร้อมหยุด หรือปฏิบัติตามสัญญาณไฟ
ส่วน 'เนินชะลอความเร็ว' เป็นเครื่องหมายการจราจรอีกประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะยกสูงขึ้นจากผิวจราจร มีลักษณะเป็นรูปโค้ง หรือแบบหลังเรียบ ใช้ติดตั้งขวางทิศทางการจราจร เพื่อให้ 'ยานพาหนะ' ลดการใช้ความเร็ว
เครื่องหมายจราจรทั้งสองชนิดนี้ สร้างขึ้นตามมาตรการทางวิศวกร เรียกว่า 'Traffic Calming' ในการช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสำหรับคนเดินเท้า และผู้ใช้จักรยาน
การใช้ 'Traffic Calming' จะต้องปรับสภาพถนน จึงใช้ได้เพียงในถนนสายย่อย สายรอง และสายท้องถิ่นเท่านั้น โดยไม่นิยมใช้ในถนนสายหลัก เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้
ที่ผ่านมา 'อุบัติเหตุบนท้องถนน' เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และเป็นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศโดมินีกัน สะท้อนให้เห็นว่า 'ถนนในประเทศไทย' ยังไม่มีความปลอดภัย
รัฐบาลไทย ประกาศให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อเป็นกรอบแนวทางลดอุบัติภัย และความสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด