ปัญหาโลกแตกระดับคลาสสิคในชีวิตเก้งกวาง เห็นจะไม่พ้นเรื่องที่บ้าน ครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง วงศาคณาญาติ ที่ถ้าไม่คะยั้นคะยอเซ้าซี้ให้แต่งงานมีลูกมีเมีย อันเนื่องมาจากความที่ไม่รู้เพศวิถีเพศสภาพลูกตัวเอง หรือก็รู้อยู่เต็มอกแล้วแต่แสร้งถาม “เมื่อไหรจะแต่งงาน”, “เมื่อไหรจะพาสาวมาบ้านให้เห็น” หรือแอบเคลือบแคลงสงสัยมานาน เพื่อแสดงความคาดหวังส่วนตัวต่อเพศวิถีของลูกหลาน และประกาศไม่ยอมรับเพศวิถีเพศสภาพที่ลูกหลานเขามี
และการไม่ยอมรับและความพยายามเปลี่ยนเพศวิถีก็มีกระบวนการต่างๆตามระดับความเข้มข้นของhomophobiaและความรับรู้เข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่จับเข่าคุยกัน หาเมียให้ พาไปขึ้นครู ตัดจากกองมรดก เนรเทศออกจากบ้าน เตะ ตี พาไปหาจิตแพทย์ไปจนถึงจับบวช
“นี่ฉันอยู่กินกับแฟนมา 5 ปีแล้ว แม่ฉันยังคิดว่าฉันไม่ได้มีครอบครัว เป็นโสดอยู่เลย พูดอยู่นั่นแหละให้ฉันขายคอนโดทิ้งแล้วกลับมาอยู่บ้าน ขณะที่น้องสาวฉันคบกับแฟนแค่ 3 ปีแล้วก็เพิ่งแต่งงานไป แม่ฉันไม่เห็นจะเข้าไปจุ้นจ้านอะไร บอกว่าเขามีครอบครัวของเขาแล้ว แล้วฉันละไม่ใช่ครอบครัวหรอกหรอ” มิตรสหายเก้งท่านหนึ่งบ่นกระปอดกระแปด
แม้คำว่า “ครอบครัว” อาจจะวัดไม่ได้ด้วยเวลา มีหน่วยเป็นเดือนเป็นปี แต่ก็เช่นกัน มันไม่ใช่สิ่งที่พิธีกรรมทางศาสนาหรือเอกสารราชการจะเข้ามากำหนดแทน หรือแม้แต่สถานที่เข้ามารองรับ
“ขนาดฉัน 35 แล้วนะ ฉันมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องส่วนตัว จะคบจะรักใช้ชีวิตกับใคร ตั้งแต่บรรลุนิติภาวะ หาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว แต่แม่ทำราวกับว่าฉัน 5 ขวบ” นางทิ้งท้ายพลางชำเลืองไปยังเพื่อนสาวข้างๆ “หล่อนเป็นแม่คนแล้ว แก่ไป อย่าทำตัวเหมือนแม่ฉันนะ”
“นี่ยังไม่รู้เลยใครเป็นพ่อเด็ก” มิตรสหายชะนี single mom ท่านหนึ่งตอบ “เออนึกขึ้นได้ ฉันไปอัลทราซาวด์มาแล้วนะ ได้ลูกชายว่ะ ฉันมีหรรมอยู่ในร่างกายด้วยนะยะ ตลกดี สงสัยพ่อมันลืมทิ้งไว้ ส่วนของรับขวัญหลาน พวกรถเข็น, เสื้อผ้า, ชุดอาบน้ำ ขอสีฟ้าสีน้ำเงิน ห้ามchoky pink เด็ดขาด ลายดอกดวงอะไรก็ไม่เอานะยะ แล้วของเล่นห้ามเป็นเซเลอร์มูน เจ้าหญิงเอลซ่านะยะ จำไว้ค่ะ หลานชายค่ะ หลานชาย!!”
ฉันหันขวับตาเขี้ยวปั๊ด “เดี๋ยวนะ ทำไมต้อง genderize เด็กด้วย เด็กควรมีสิทธิเลือกเองนะว่า จะมีเพศสภาพแบบใด ไม่ใช่ให้พ่อแม่มากำหนด เช่นเดียวกับศาสนา เพราะการเป็นศาสนิกมันเป็นความเชื่อศรัทธา ไม่ใช่ DNA”
“มันอยู่ในมดลูกฉัน 9 เดือน แย่งสารอาหารฉันกินทุกมื้อ ฉันมีสิทธิตัดสินใจ” นางสวน
เก้งกวางวัยกลางคนใกล้แก่จะมีประสบการณ์อย่างนึงคือ อยู่ระหว่างการได้เห็นท่าทีความกังวลใจของพ่อแม่ตัวเองต่อเพศวิถีเพศสภาพของเขา กับเห็นคนรุ่นเดียวกันที่เริ่มกลายเป็นพ่อคนแม่คน แล้วแสดงท่าทีกังวลเรื่องกลัวลูกโตมาจะเป็นตุ๊ด
พ่อแม่บางคนปากบอกว่ายอมรับความหลากหลายทางเพศได้ พวกเขาและเธอมีเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หัวหน้า ลูกศิษย์ ญาติเป็น LGBT หากแต่ไม่ใช่กับลูกของพวกเขาเอง ฉันยังเคยได้ยินมากับหูตัวเองเลย จากอดีตมิตรสหายท่านหนึ่งเลยว่า กลัวลูกเป็นตุ๊ดมากกว่าติดยาเสียอีก เพราะอย่างน้อยติดยายังรักษาหาย พาไปอ้วกๆวัดถ้ำกระบอกยังได้ แต่เป็นตุ๊ดนี่สิรักษาไม่หาย พูดราวกับว่า รักเพศเดียวกันเป็นโรคเรื้อรังหรือสิ่งที่น่าหวาดกลัวรุนแรงกว่าอาชญากรรม และจัดวางอยู่ในกลุ่มปัญหาครอบครัวเช่นเดียวกับลูกติดยาเสพติด
ขณะเดียวกันพ่อแม่บางคนอาจจะยอมรับความหลากหลายทางเพศไม่ได้ ด้วยประสบการณ์ ยุคสมัย สิ่งแวดล้อม สังคมที่ดำรงชีวิต หากแต่ยอมรับลูกที่เป็น LGBT ได้ ด้วยเหตุผลเดียว เพราะรักลูกเท่านั้น
แต่ในบางครอบครัวที่เชื่อว่า พ่อแม่สามารถแอบอ่านจดหมาย, chat records, ไดอารีลูกได้ หรือค้นห้องนอนลูกได้ ไม่ผิด ไม่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว ก็มักจะมีสำนึกว่าการมีลูกเป็น LGBT มักเป็นความผิดพลาด น่าอับอาย ผิดหวัง กังวลใจ ต้องรีบแก้ไขรักษาบำบัด เพราะมักจะคิดว่า พ่อแม่ย่อมมีสิทธิอำนาจเหนือกว่า สามารถเข้าถึงทุกอณูทุกมิติของตัวลูกได้ แทรกแซงเรื่องส่วนตัวได้ เนื่องจากเป็นผู้ให้กำเนิด เบ่งออกมาเอง เลี้ยงดูจนมีชีวิตมาถึงทุกวันนี้
เหมือนสำนวนเปรียบเทียบที่ฟังดูดีประเภท “พ่อแม่คือพรหมในบ้าน” ที่บุพการีมีชนชั้นสถานะประดุจพระเจ้า พระพรหม ซึ่งนั่นก็เป็นสถานะที่มาพร้อมกับอำนาจบทบาทที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตลูกได้ทุกอย่าง ในฐานะสิ่งมีชีวิตตัวกระจ้อยร่อยที่ตนได้เนรมิตขึ้นมาเอง แม้แต่เรื่องความรักและอารมณ์ทางเพศ
อย่างไรก็ตามการคลุมถุงชนก็กลายเป็นเผด็จการและความป่าเถื่อนไปแล้วในปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นการบีบบังคับให้ลูกLGBTมีเพศสภาพเพศวิถีที่ตนและสังคมคาดหวังก็ยังคงปรากฏอยู่ ด้วยเหตุนี้สมาชิกภายในบ้านที่เป็นLGBT จึงไม่กล้าเปิดเผยเพศวิถีเพศสภาพให้รับรู้ เพราะไม่ต้องการให้คนที่รักที่ผูกพันในชีวิตผิดหวัง เสียใจ ตั้งป้อมรังเกียจ โกรธ และอาจจะนำมาซึ่งการบังคับขู่เข็ญความรุนแรงต่างๆ
บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวจึงเปรียบเทียบได้กับค่ายทหารสหรัฐช่วง 1993 - 2011 ที่ “Don’t ask, don’t tell” นโยบายที่ไม่ให้ทหารเปิดเผยเพศวิถีเพศสภาพของตน และผู้บังคับบัญชาก็ห้ามสาระแน ไม่งั้นถ้าล่วงรู้ว่าใครเป็นเกย์ จะถูกไล่ออกจากองค์กร
และบรรดาเก้งกวางในไทย มักจะถูกถามโดยเก้งกวางด้วยกันเองหรือ non-เก้งกวางว่า “ที่บ้านรู้ไหมว่าเป็น”, “ที่บ้านรู้รึยัง” ซึ่งถ้าตอบว่าใช่ ก็จะถูกเผือก ถามต่อไปอีกว่า “รู้แล้วพ่อแม่เสียใจไหม” มีการอยากรู้ถึงขั้นอารมณ์ความรู้สึกบุคคลที่ 3 อีก ซึ่งนั่นก็เป็น hetero normative ในไวยากรณ์ภาษาที่จะไม่มีใครมาตั้งคำถามประเภท “ที่บ้านรู้ไหมว่ารักต่างเพศ”, “ที่บ้านทำไงเมื่อรู้ว่าไม่ได้ชอบเพศเดียวกัน”, “แล้วที่บ้านไม่เสียใจหรอที่ไม่เป็นเกย์”
“สำหรับฉัน ไม่มีปัญหาเรื่องที่บ้านนะ เพราะบอกพ่อแม่ไปตรงๆว่าเป็นเกย์” ฉันหันไปบอกมิตรสหายเก้ง “ถึงไม่บอก เขาก็ต้องรู้ๆกันอยู่แล้วล่ะ เพราะรู้จักกันมานานตั้งแต่ฉันลืมตาชมโลก แล้วจะไม่ให้สังเกตเห็นได้ไง ทั้งบุคลิก เสื้อผ้าหน้าผมรองเท้ากระเป๋า ภาษาที่พูด เพื่อนที่คบ นักร้องที่ฉันหลงใหลได้ปลื้ม Madonna, Mariah Carey, Kylie Minogue อย่างเนี๊ยะ การ์ตูนเอยนิตยสารเอย เพียงแต่พ่อแม่คงไม่อยากรู้อย่างเป็นทางการด้วยวัจนภาษาหรือลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง”
“อีกอย่างนะ” ฉันยังคงพ่นต่อ “ลูกจะมีแฟนเป็นใครยังไง เพศไหน วัยไหน ชาติพันธุ์ไหน มันก็ไม่ใช่เรื่องที่พ่อแม่ต้องวิตกกังวล สะพรึงหรือเสียใจ หากแต่เป็นเรื่องที่ควรเคารพการตัดสินใจ อารมณ์ความรู้สึกของแต่ละปัจเจกบุคลมากกว่า เช่นเดียวกับที่ลูกจะไม่เข้าไปแทรกแซงหากพ่อแม่อยากจะมีผัวมีเมียใหม่ ซึ่งฉันก็เคยคุยกับพ่อแม่นะว่า พ่อแม่อาจจะสอนลูกให้กินอาหารครบห้าหมู่ ไม่อมข้าว ห้ามกินทิ้งกินขว้าง แต่ไม่สามารถสั่งสอนให้ลูกเอากับใคร ที่ไหน ท่าไหน กับใครบ้าง กี่คน หรือกับอะไรบ้าง ต่อให้ลูกจะรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกันก็ตาม เท่าที่ทำได้มากที่สุดก็คือ สอนให้รู้จักป้องกันโรคป้องกันท้องไม่พร้อม หรือสอนไม่ให้ไปข่มขู่ ข่มขืน หรือละเมิดล้อเลียนเรื่องเพศของชาวบ้านชาวช่องเค้า”
วงสนทนาในวันนั้น เพื่อนๆลงความเห็นว่า “ฉันว่าพ่อแม่แกน่าจะกังวลเรื่องทัศนคติ เรื่องการสนทนาของแกมากกว่าเพศสภาพเพศวิถีอีกนะ”