ไม่พบผลการค้นหา
การล้อเลียนผู้นำทางการเมืองและศาสนา อาจถูกมองว่าไร้สาระและไม่เหมาะสม แต่ในหลายมุมของโลกที่ถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการ การล้อเลียนเป็นหนึ่งในช่องทางแสดงออกของประชาชน และยังเป็นเครื่องมือสั่นคลอนอำนาจเผด็จการได้ อย่างเช่นในอิหร่าน ที่คนธรรมดาๆคนหนึ่งกล้าล้อเลียนประมุขสูงสุดของประเทศผ่านโลกออนไลน์

การล้อเลียนผู้นำทางการเมืองและศาสนา อาจถูกมองว่าไร้สาระและไม่เหมาะสม แต่ในหลายมุมของโลกที่ถูกปกครองโดยผู้นำเผด็จการ การล้อเลียนเป็นหนึ่งในช่องทางแสดงออกของประชาชน และยังเป็นเครื่องมือสั่นคลอนอำนาจเผด็จการได้ อย่างเช่นในอิหร่าน ที่คนธรรมดาๆคนหนึ่งกล้าล้อเลียนประมุขสูงสุดของประเทศผ่านโลกออนไลน์ 


อิหร่าน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบอบการปกครองเป็นเอกลักษณ์ที่สุดในโลก แม้ว่าประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจสูงสุดของประเทศกลับตกอยู่ในมือของสภาศาสนา ภายใต้การควบคุมของอยาตุลเลาะห์ ตำแหน่งสังฆราชของศาสนาอิสลาม ผู้ถือเป็นประมุขสูงสุดของอิหร่านอย่างแท้จริง และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งเสียกว่าผู้นำเผด็จการทหารในหลายประเทศทั่วโลก เพราะอยาตุลเลาะห์คือผู้กุมทั้งศรัทธา และอำนาจรัฐไว้ในมือ

ด้วยเหตุนี้ อยาตุลเลาะห์คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันของอิหร่าน จึงนับเป็นหนึ่งในผู้นำเผด็จการของโลกอันอยู่ในสถานะ "ล่วงละเมิดมิได้" ไม่ว่าจะโดยประธานาธิบดีหรือประชาชนคนเดินดินทั่วไป 
    
แต่โลกยุคดิจิตอล เปิดโอกาสให้มีช่องทางหนึ่งที่คนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี นั่นก็คือโซเชียลมีเดีย และชายชาวอิหร่านคนหนึ่งก็ได้ใช้ช่องทางนี้ ท้าทายอำนาจรัฐอย่างที่ไม่มีใครกล้าทำ เขาเปิดเพจเฟซบุ๊กและแอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า "Ayatollah Tanasoli" ที่แปลว่า "อวัยวะเพศของอยาตุลเลาะห์" เพื่อเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์ความเผด็จการและปากว่าตาขยิบของระบอบรัฐศาสนาในอิหร่าน

ตัวอย่างการเสียดสีที่เห็นชัดที่สุด ก็คือรูปโปรไฟล์ของเพจ ซึ่งเป็นรูปอยาตุลเลาะห์ซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อิหร่าน แต่ถูกตัดต่อให้มีตาข้างเดียว ทางเพจเปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่าตั้งใจสื่อให้คนเห็นว่าผู้นำศาสนาเหล่านี้ มักมองอะไรด้านเดียว และห้ามคนอื่นตั้งคำถามนอกเหนือไปจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าถูกต้อง 

นอกจากนี้ยังมีคำพูดเสียดสีแนวคิดแบบมุสลิมสุดโต่งปรากฏอยู่ทั่วไปในเพจ เช่น "เราประณามความรุนแรงทุกรูปแบบ ยกเว้นความรุนแรงที่เราทำเอง" หรือ "อิสลามให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี โดยเฉพาะสตรีที่ให้กำเนิดบุตรชาย" มีแม้กระทั่งการเสียดสีกรณีชาร์ลี เอบโด อย่าง "หากฝรั่งเศสมีประชาธิปไตยแบบอิสลาม นักเขียนการ์ตูนพวกนั้นก็จะไม่ถูกคนร้ายยิงตาย เพราะพวกเขาจะถูกประหารไปตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว"

เพจเฟซบุ๊กทานาโซลี มียอดไลค์ราว 20,000 ไลค์ และทวิตเตอร์ก็มีผู้ติดตามเพียงประมาณ 8,000 คน ทางเพจยอมรับกับบีบีซีว่าตัวเลขนี้ไม่มากมายอะไรในสายตาชาวโลก แต่สำหรับอิหร่าน ที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐและศาสนาเป็นอาชญากรรมร้ายแรงเท่ากับการฆ่าคน การที่มีผู้สนับสนุนเพจดังกล่าวมากขนาดนี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าท่ามกลางสภาพสังคมที่กดขี่ มีประชากรไม่น้อยในอิหร่านที่เริ่มกล้าลุกขึ้นมาทวงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมือง ไม่ใช่ไพร่ฟ้าผู้ยอมรับอำนาจรัฐโดยดุษฎี

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog