เหตุการณ์ที่กลุ่ม IS จับตัวประกันชาวญี่ปุ่นเรียกค่าไถ่ อาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วโลก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น พวกเขาเลือกมีปฏิกิริยาต่อการก่อการร้ายครั้งนี้ด้วยการล้อเลียนผ่านการทำมีม ให้ผู้ร้ายกลายเป็นตัวตลก
เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ผู้ก่อการร้าย IS ที่เคยเผยแพร่คลิปวีดีโอตัดศีรษะตัวประกันข่มขู่สหรัฐฯและพันธมิตรมาแล้วหลายครั้ง ได้ออกวีดีโอใหม่ล่าสุด ขู่ฆ่าชาวญี่ปุ่น 2 คน คือนายเคนจิ โกโตะ นักข่าวอิสระ และนายฮารุนะ ยูกาวะ ดีลเลอร์ค้าอาวุธสงคราม หากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่จ่ายเงินค่าไถ่ 200 ล้านดอลลาร์ หรือ 6,400 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง
วีดีโอล่าสุดนี้ตอกย้ำว่า IS ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกประเทศที่ร่วมขบวนการต่อต้านการก่อการร้าย แม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องสนับสนุนการสู้รบกับ IS ในอิรักและซีเรีย เพียงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและด้านอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบเท่านั้น
ปฏิกิริยาแข็งกร้าวจากนานาชาติที่ต่างเรียกร้องให้ IS ปล่อยตัวประกันชาวญี่ปุ่น รวมถึงการที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันไม่จ่ายเงิน แม้จะยอมอ่อนข้อ ขอเจรจากับ IS ถือว่าเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ แต่ปฏิกิริยาของชาวญี่ปุ่นต่อเหตุการณ์นี้ กลับน่าประหลาดใจอย่างมาก เมื่อพวกเขาไม่ได้ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นี้จนเสียขวัญ หรือวิจารณ์ท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาลที่อาจทำให้ตัวประกันต้องถูกสังหาร แต่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากกลับเลือกทำ "มีม" ล้อเลียน IS
ตัวอย่างมีมที่แพร่หลายอย่างมาก ก็คือมีมที่นำภาพผู้ก่อการร้ายและนักโทษในชุดสีส้ม มาตัดต่อให้กลายเป็นวีดีโอเกม แถมทะเลทรายเบื้องหลังยังเต็มไปด้วยตัวลามะหน้าตาน่ารักน่าชัง หรือการตัดต่อผู้ก่อการร้ายในชุดไอ้โม่งสีดำ ให้ทำท่าเหมือน ดร.อีวิล ตัวร้ายในภาพยนตร์ "Austin Powers" นอกจากนี้ยังมี ISIS ภาคอวกาศ ที่คาดว่าเป็นการล้อเลียน ISS หรือ International Space Station สถานีอวกาศนานาชาติ ไปจนถึงนินจา IS โดยมีการติดแฮชแท็ก#ISISクソコラグランプリ (ไอซิสคุโซะโคละ กุรัมปุหริ) หรือ "แข่งทำรูปบ้าบอล้อเลียน ISIS" ซึ่งปรากฏในโลกออนไลน์ถึง 55,000 ครั้งในเวลาไม่ถึง 3 วัน
เช่นเดียวกับที่มีหลายคนไม่พอใจการ์ตูนล้อเลียนของชาร์ลี เอบโด การทำมีมล้อเลียนเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนี้ ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจ โดยบอกว่าคนที่ทำมีม กำลังล้อเล่นกับความเป็นความตายของเพื่อนร่วมชาติ พร้อมกับแสดงความเห็นว่าการทำแบบนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร แถมยังทำลายภาพลักษณ์ของประเทศด้วย ว่าชาวญี่ปุ่นเห็นการก่อการร้ายเป็นเรื่องเล่น
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการมองว่านี่เป็นพัฒนาการของญี่ปุ่น ที่เริ่มใช้การ์ตูนมาเสียดสีล้อเลียนทางการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา แม้การ์ตูนจะเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับญี่ปุ่นมานานแล้วก็ตาม ขณะที่ชาวญี่ปุ่นบางส่วนมองว่าการแสดงออกแบบตลกขบขันเช่นนี้ เป็นการกลบเกลื่อนความกลัวและระแวงการก่อการร้ายที่กำลังเริ่มขึ้นในสังคมญี่ปุ่น แต่ในทางหนึ่ง มันก็เป็นวิธีในการเอาชนะการก่อการร้าย เพราะเมื่อความน่ากลัวกลายเป็นความขบขัน เป้าหมายสูงสุดของการก่อการร้ายอย่างการสร้างความหวาดกลัว ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุผล