บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ และ รถไฟฟ้ากรุงเทพ ควบรวมกิจการสำเร็จ ตอบรับการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันทางธุรกิจ จากถนนสู่ระบบราง
คณะกรรมการ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL และ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เห็นชอบแผนควบรวมกิจการทั้งสองบริษัท เพื่อขยายธุรกิจด้านคมนาคมขนส่งทางราง โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเป็น บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) คาดว่าเมื่อการควบรวมแล้วเสร็จ จะสามารถซื้อขายหุ้นของบริษัทใหม่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคม หรือในไตรมาส 3 ปีนี้
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BECL กล่าวว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของการแข่งขันทางธุรกิจ ที่มีความนิยมใช้การขนส่งในระบบรางมากกว่าถนน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ประกอบกับ บีเอ็มซีแอล มีแผนลงทุนในรถไฟฟ้า 10 สาย จึงมั่นใจจะช่วยต่อยอดทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการลงทุน
สำหรับปริมาณการใช้ทางด่วน คาดจะไม่เติบโตสูงมาก เฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี เฉลี่ยมียอดใช้บริการประมาณ 1,103 เที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ หลังควบรวมกิจการแล้วจะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา แต่ไม่กระทบผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท เพราะได้โอนหุ้นทั้งหมดเข้ามาอยู่ในบริษัทใหม่ โดยเป็นการรวมทั้งทรัพย์สิน ภาระ และรายได้
ด้านบีเอ็มซีแอล ระบุ การควบรวมจะเพิ่มโอกาสด้านแหล่งเงินทุน เพราะบริษัทมีแผนเข้าประมูลโครงการถไฟฟ้าอีก 3 สาย คือ สายสีส้ม , สีชมพู และสีเหลือง ซึ่งรัฐบาลจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในไตรมาสแรกปีนี้ (58) และจะเปิดประกวดราคาภายในปีนี้
นายสมบัติ กล่าวว่า ก่อนควบรวม บริษัทจะลดทุนจดทะเบียนเหลือ 7 พันล้านบาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมที่มี 1 หมื่น 3 พันล้านบาท โดยไม่ต้องรอรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ช. การช่าง กล่าวว่า การควบรวมจะช่วยสนับสนุนความแข็งแกร่งในทุกด้าน และพร้อมซื้อหุ้นของผู้ที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นต่อ
ปัจจุบัน ช.การช่าง ถือหุ้นใน BMCL สัดส่วนร้อยละ 25.19 และถือหุ้นใน BECL สัดส่วนร้อยละ 15.15
หลังการควบรวม จะทำให้ทรัพย์สินในบริษัทใหม่อยู่ที่ 7 หมื่น 8 พันล้านบาท มีมาร์เก็ตแคปใหญ่เป็นอันดับที่ 35 ในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีทุนจดทะเบียน 1 หมื่น 5 พัน 285 ล้านบาท มูลค่าหุ้น 1 บาทต่อหุ้น โดย 1 หุ้นของ BMCL จะเท่ากับ 8.6 หุ้น และ 1 หุ้นของ BECL เท่ากับ 0.42 หุ้น