นับตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมสังหารหมู่ในออฟฟิศของชาร์ลี เอ็บโด นักเขียนการ์ตูนชื่อดังทั่วโลกต่างก็ร่วมเขียนการ์ตูนไว้อาลัยผู้เสียชีวิต และแสดงจุดยืนเชิดชูเสรีภาพสื่อ อันเป็นคุณค่าที่เป็นเสาหลักแห่งโลกประชาธิปไตย ไปชมภาพการ์ตูนเหล่านี้และหาความหมายที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพ
ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายบุกสังหารหมู่พนักงานแม็กกาซีนชาร์ลี เอ็บโด กลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยปรากฏว่าในจำนวนผู้เสียชีวิต 12 ราย มีนักวาดการตูนล้อเลียนแถวหน้าของฝรั่งเศส และบรรณาธิการบริหารของชาร์ลี เอ็บโดรวมอยู่ด้วย นักวาดการ์ตูนชื่อดังจากทั่วโลกก็ร่วมแสดงความไว้อาลัยการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้ในแบบของพวกเขา ที่ตราตรึงใจคนทั้งโลก นั่นก็คือการวาดการ์ตูน ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเศร้าโศกจากการสูญเสียของวงการการ์ตูนล้อเลียนการเมืองเท่านั้น แต่แทบทุกภาพยังสื่อความหมายเชิงยกย่องเชิดชูเสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างเต็มเปี่ยม
ภาพที่ได้รับการแชร์กันมากที่สุด ก็คือภาพของเดวิด โปป นักเขียนการ์ตูนการเมืองของ The Sun Herald ของแคนาดา ที่วาดภาพลายเส้นง่ายๆ เป็นรูปผู้ก่อการร้ายในชุดดำ ถือปืน ยืนอยู่ตรงข้ามกับร่างของเหยื่อที่รายล้อมด้วยปากกาและกระดาษ พร้อมข้อความสั้นๆ ว่า He drew first ซึ่งเป็นการเล่นคำในภาษาอังกฤษ หมายความว่า "เขาชักปืนก่อน" โดย drew หมายความได้ 2 นัยะ คือการวาดภาพ หรือชักปืน
ส่วนนี่เป็นประโยคอันทรงพลังที่ได้รับการแชร์มากที่สุดเช่นกัน มาจากฝีมือของแบร์นาร์โด เออร์ลิช นักวาดการ์ตูนการเมืองชาวอาร์เจนตินา ผู้ใช้สีดำเป็นพื้นหลังของข้อความสั้นๆเป็นภาษาสเปน ที่แปลว่า "โลกนี้จริงจังเกินไป จนอารมณ์ขันกลายเป็นอาชีพเสี่ยงอันตรายไปเสียแล้ว" คู่กับภาพหนังสือชาร์ลี เอ็บโดที่เปื้อนเลือด
อีกภาพที่สื่อความหมายเชิดชูเสรีภาพได้เป็นอย่างดี ก็คือผลงานของนักวาดการ์ตูนของวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐฯ ที่วาดภาพผู้หญิงถือแมกกาซีนชาร์ลี เอ็บโด หน้าปกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเล่มหนึ่ง นั่นก็คือภาพชายมุสลิมจูบกับชายสวมเสื้อชาร์ลี เอ็บโดอย่างดูดดื่ม ผู้หญิงในภาพนี้ชูปากกาขึ้นเหนือศีรษะ สื่อถึงเทพีเสรีภาพแห่งสหรัฐฯ โดยมีปากกาแทนคบเพลิงแห่งเสรีภาพ และยังสอดคล้องกับการชุมนุมของชาวฝรั่งเศสเมื่อคืนนี้ ที่มีการชูปากกาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่ออีกด้วย
และภาพที่เป็นที่ฮือฮาและถือกันว่าทรงพลัง แหลมคมมากที่สุดในขณะนี้ ก็คือภาพที่ว่ากันว่าเป็นของแบงค์ซี ศิลปินกราฟฟิติชื่อก้องโลก เป็นรูปภาพง่ายๆของดินสอแท่งหนึ่ง ซึ่งถูกหักเป็นสองท่อน แต่แล้วก็กลับกลายเป็นดินสอ 2 แท่งที่แหลมคมพอๆกัน แทนความหมายถึงเสรีภาพสื่อ ที่ยิ่งถูกคุกคาม ยิ่งเติบโตและแหลมคมเพื่อยืนหยัดต่อสู้กับผู้คุกคาม