ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยกลุ่มล้านนาคดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการลอยโคมปัจจุบันซึ่งเป็น 'วัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่' แทบจะไม่มีความเชื่อดั้งเดิมหลงเหลืออยู่เลย

นักวิจัยกลุ่มล้านนาคดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการลอยโคมปัจจุบันซึ่งเป็น 'วัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่' แทบจะไม่มีความเชื่อดั้งเดิมหลงเหลืออยู่เลย 

จากข้อถกเถียงเรื่องการลอยโคมซึ่งมีความเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อเครื่องบินและไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยของประชาชน ปะทะกับความเชื่อว่าเป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ไม่ว่าใครจะเลือกเชื่อหรือให้ความสำคัญกับประเด็นไหน ก็ควรมีข้อมูลจากผู้ที่ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นประกอบการพิจารณา 

เว็บไซต์ “วอยซ์ทีวี” สัมภาษณ์อาจารย์ธิตินัดดา จินาจันทร์ นักวิจัยกลุ่มล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดังนี้

-การลอยโคมมีความหมายว่าอย่างไร ในความเชื่อดั้งเดิมของชาวล้านนา
 
 จริงๆ แล้ว การลอยโคมในวัฒนธรรมล้านนานั้น ตอบตามประสบการณ์ของตัวเองซึ่งเติบโตที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เรียกได้ว่าเป็นชนบทของจริง เป็นเมืองเล็กๆ ที่วิถีชีวิตของคนเมื่อสักยี่สิบสามสิบปีที่แล้วก็ยังมีความเป็นชนบทสูงนะคะ เท่าที่จำได้เรามีการปล่อย “โคมลม” หรือ “ว่าวควัน” ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง(วันเพ็ญเดือนสิบสอง) เท่านั้น แทบไม่เคยเห็นการลอยโคมไฟหรือที่เราเรียกว่าโคมลอยในทุกวันนี้เลยค่ะ 

“โคมลม” ทำจากกระดาษว่าวต่อกันหลายแผ่นทำเป็นลูกใหญ่มหึมา จะปล่อยกันที่วัด ไปช่วยกันทำที่วัดทั้งพระ เณร ญาติโยม ก็ไปช่วยกันทำ ช่วยกันปล่อย เพราะโคมลมจะใช้ควันไฟอัดเข้าไปในโคมจนตึงแล้วปล่อยขึ้นฟ้า ตอนเด็กๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าเขาปล่อยทำไม รู้แต่ว่ามันสนุกมากเวลาเห็น “โคมลม” ลอยขึ้นฟ้าลูกเบ้อเร่อ ก็จะวิ่งออกมาดูนอกบ้าน วัดไหนหมู่บ้านไหนก็ปล่อยกันแค่ลูกเดียว ไม่ได้ปล่อยกันพร่ำเพรื่อ
 
พอโตมา ด้วยความชอบในเรื่องวัฒนธรรม เรื่องล้านนาก็สนใจศึกษาหาความรู้จากเอกสารบ้าง ถามครูบาอาจารย์บ้าง คุยกับคนเฒ่าคนแก่บ้างก็ถึงรู้ว่าที่เขาปล่อยโคมลมกันนั้นก็เพื่อจะได้บูชาพระเกศแก้วจุฬามณีที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามความเชื่อเรื่องการชุธาตุของคนล้านนา คือคนล้านนาจะเชื่อว่าก่อนที่คนเราจะเกิดมาเป็นมนุษย์ วิญญาณของเราจะไปชุหรือพักอยู่ที่พระธาตุประจำปีเกิดก่อนที่จะจุติมาเป็นคน ดังนั้นในช่วงชีวิตหนึ่งที่เกิดมา ทุกคนควรจะได้ไปสักการะพระธาตุประจำปีเกิดของตนเองให้ได้สักครั้ง อย่างเช่นคนเกิดปีชวดมีพระธาตุประจำปีเกิดคือพระธาตุศรีจอมทองก็ต้องไปไหว้พระธาตุจอมทอง ส่วนคนที่เกิดปีอื่นๆ ก็ไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเองไปซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตล้านนา แต่ในอดีตการเดินทางมันลำบาก แค่ในล้านนาด้วยกันเองก็ไปยากแล้ว คนล้านนาในอดีตจึงนิยมแขวนภาพเขียนกระจกที่วาดพระธาตุประจำปีเกิดประกอบกับสัตว์ในปีนักษัตของตนเองไว้ที่ฝาผนังบ้าน นัยว่าเป็นการบูชาพระธาตุประจำปีเกิดอีกแบบหนึ่ง

ในบรรดา 12 ปีเกิดนั้นก็จะมีเพียงสองสามปีเกิดที่มีพระธาตุประจำปีเกิดอยู่นอกเขตล้านนา เช่น พระธาตุพนม เจดีย์ชเวดากอง แต่ปีที่พิเศษสุดก็คือคนเกิดปีจอ มีพระธาตุประจำปีเกิดอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือพระเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งจะไปไหว้ที่ไหนก็ไม่ได้ ก็เลยทำอะไรหลายอย่างเพื่อให้ได้ไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตน เช่น ทำสรวยดอกไม้หรือกรวยดอกไม้ธูปเทียนไปใส่ในโลงศพของคนตายที่เกิดปีจอเหมือนกัน ฝากวิญญาณนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีแทนตัวเอง หรือจะใช้วิธีไปไหว้พระกลางวิหารหลวงในคืนยี่เป็ง หรือจะเขียนชื่อใส่กระดาษผูกติดโคมลมแล้วปล่อยขึ้นฟ้าไปไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีก็ได้

ส่วน “โคมไฟ” นั้น คนเฒ่าคนแก่ที่เคยสอบถามท่านก็บอกว่าตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยมีไม่เคยเห็น เพิ่งมาเห็นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี่เอง แต่ก็มีหลักฐานจากราชกิจจานุเบกษาที่ประกาศเมื่อปีพ.ศ.2443 ได้ประกาศเกี่ยวกับการห้ามลอยโคมลอยในมณฑลพายัพว่าการปล่อยโคมลอยได้สร้างความเสียหายจากเพลิงไหม้แก่บ้านเรือน แสดงว่าในอดีตก็คงจะมีการปล่อยโคมไฟเหมือนกัน แต่อาจจะปล่อยในบางพื้นที่ และคิดว่าลักษณะและขนาดของโคมรวมถึงวัสดุที่ใช้ในการจุดติดไฟก็จะไม่เหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน

จากที่เคยอ่านในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ จำได้ว่ากล่าวถึงการใช้ขี้หย้าเพื่อจุดไฟให้โคมไฟลอยขึ้นฟ้า ซึ่งขี้หย้านั้นจะมีระยะเวลาลุกไหม้ไม่นานก็ดับ อีกทั้งการปล่อยโคมไฟช่วงกลางคืนก็จะปล่อยในช่วงดึกของยี่เป็งซึ่งในอดีตก็เริ่มหนาวแล้ว ปล่อยกันตอนดึก ลอยขึ้นฟ้าไม่นาน ความชื้นในอากาศก็ช่วยดับไฟก็ไม่เกิดปัญหาอะไรเหมือนปัจจุบัน แต่ในยุคสมัยต่อมาก็มีการดัดแปลงให้โคมลอยอยู่บนอากาศได้นานขึ้น จุดติดไฟได้แรงขึ้น ก็สร้างปัญหามาเนืองๆ ตั้งแต่ยี่สิบสามสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มากเหมือนทุกวันนี้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะปล่อยโคมลมหรือโคมไฟ คิดว่าความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังก็คือการปล่อยเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีทั้งนั้น และจะปล่อยกันในช่วงยี่เป็งเท่านั้นด้วย ไม่ปล่อยกันพร่ำเพรื่อและมากมายเหมือนปัจจุบัน


-ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ใดทำการลอยโคม เช่นเดียวกับชาวล้านนาหรือไม่ 

 เท่าที่ทราบ ไม่พบการลอยโคมในพื้นที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นะคะ การลอยโคมที่ใกล้เคียงกับการปล่อยโคมไฟในปัจจุบันก็น่าจะเป็นการปล่อยโคมลอยของจีน ซึ่งจากที่หาข้อมูลจากเว็บไซต์ www.cultural-china.com เขาก็บอกว่าโคมไฟที่ลอยขึ้นฟ้ามีชื่อว่า Kongming ซึ่งก็มีที่มาจากขงเบ้งในช่วงที่ป่วยหนัก ก่อนจะตาย ขงเบ้งก็ทำอุบายให้สร้างโคมทำจากกระดาษแล้วเอาวัสดุที่ติดไฟติดไปกับโคมแล้วลอยขึ้นฟ้า นัยว่าหลอกข้าศึกศัตรูว่าขงเบ้งมีกองกำลังจากสวรรค์ลงมาช่วย 
    
นอกจากจีนก็จะมีที่ใต้หวันซึ่งก็คงได้รับอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนในพื้นที่อื่นๆ แทบไม่ปรากฏการลอยโคมค่ะ


-หากเทียบการลอยโคมของชาวล้านนา กับพิธีกรรมของภูมิภาคอื่นๆ มีตัวอย่างใกล้เคียงกับวัฒนธรรมใด

หากจะพิจารณาว่าการลอยโคมเป็นไปเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีแล้ว คิดว่าคงจะเทียบเคียงกับพิธีกรรมอื่นๆ ของภูมิภาคอื่นไม่ได้ เพราะความเชื่อเรื่องการชุธาตุมันมีเฉพาะในพื้นที่ล้านนาเท่านั้น ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวเหมือนการทำตุง ถวายทานตุงซึ่งมีปรากฏทั้งในล้านนา ล้างช้าง แต่ความเชื่อเรื่องชุธาตุมันเกิดขึ้นมาในช่วงการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนี่เอง น้องนักวิชาการที่อ่านเอกสารเคยเล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่าความเชื่อนี้เกิดขึ้นในช่วงสมัยที่อำนาจของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถูกจำกัดและลดน้อยลงหลังจากรัฐบาลสยามเริ่มกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นมากขึ้น การสร้างคติความเชื่อเรื่องการชุธาตุก็คงเป็นการโต้ตอบของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ถูกลดทอนอำนาจ ดังนั้นความเชื่อนี้ย่อมไม่ปรากฏในพื้นที่อื่นแน่นอน 


-มองว่า การจุดไฟลอยโคมที่นิยมปัจจุบัน โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นไปบนฐานความเชื่อตามประเพณีเดิมแค่ไหน

 การลอยโคมลอยในปัจจุบันนี้แทบไม่มีความเชื่อดั้งเดิมหลงเหลืออยู่เลย ไม่มีใครรู้เลยว่าพระธาตุประจำปีเกิดคืออะไร พระเกศแก้วจุฬามณีคืออะไร ทุกคนปล่อยโคมเพื่อหวังจะปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกออกจากตัวไปกับโคม แม้แต่ในช่วงยี่เป็งก็ตามที ทุกคนที่ลอยโคมก็ลอยกันไปตามๆ กัน ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร หรือแม้แต่การจุดผางประทีปก็ไม่เคยรู้ที่มาว่าทำไมต้องจุด มันเกี่ยวข้องกับตำนานแม่กาเผือก การฟังเทศน์อานิสงส์ผางประทีปอย่างไร ทุกวันนี้ทุกคนทำตามกันไปเพราะคิดว่ามันคือประเพณีล้านนา แต่ไม่เคยมีใครรู้ว่าประเพณีจริงๆ ความเชื่อจริงๆ มันค���ออะไร เป็นอย่างไรและทำอย่างไร


-คำอธิบายเรื่องปล่อยโคม เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ปล่อยโศก มาได้อย่างไร เกี่ยวข้องกับประเพณีเดิมจริงหรือไม่

 คำอธิบายพวกนี้มันก็คงมาพร้อมกับธุรกิจการท่องเที่ยว ใครจะเป็นต้นกำเนิดในการปล่อยโคมลอยเพื่อปล่อยเคราะห์ปล่อยโศกนั้นก็จับมือใครดมไม่ได้ แต่มันน่าจะเกิดขึ้นมาเมื่อสักยี่สิบกว่าปีที่แล้ว จริงๆ แล้วการจะทำอะไรแล้วสร้างชุดความเชื่ออะไรขึ้นมามันทำได้ง่ายมาก โดยเฉพาะกับคนต่างถิ่น ต่างชาติ เพราะเขาไม่มีความรู้อะไรเลย ใส่ข้อมูลอะไรไปก็เชื่อกันง่ายๆ ดังนั้นจะบอกว่าปล่อยโคมเพื่อให้ชีวิตสว่างไสวเหมือนโคมไฟ เด่นดังเป็นดาวประดับฟ้าก็ว่ากันไป เพราะคนต่างวัฒนธรรมเขาไม่รู้อยู่แล้วว่าจริงหรือไม่

จำได้ว่าเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว เคยไปงานเลี้ยงเล็กๆ กับนักศึกษาต่างชาติ เจ้าภาพที่จัดงานก็รับจ็อบเป็นออกาไนเซอร์ รับจัดงานแสงสีเสียงเล็กๆ เขาก็เอาโคมลอยมาให้นักศึกษาต่างชาติปล่อยขึ้นฟ้าแล้วอธิบายว่าเราจะได้เป็นเพื่อนกันตลอดไป มิตรภาพของเราจะโชติช่วงงดงามเหมือนโคมลอย นักศึกษาต่างชาติก็ยกมือไหว้กันใหญ่ น้ำตาคลอซาบซึ้งว่าพวกเราจะเป็นเพื่อนกันตลอดไปตามประเพณีล้านนาที่ว่านี้ เราฟังแล้วก็ได้แค่ค้านอยู่ในใจพร้อมกับขนลุกกับความสามารถในการมโน การสร้างเรื่องครั้งนั้น ซึ่งมันก็ไม่ต่างอะไรกับแม่ค้าที่ขายโคมไฟข้างทาง “ซื้อโคมลอยไหมคะ สามลูกร้อย ปล่อยทุกข์ปล่อยโศก โรคภัยต่างๆ หายไปกับการปล่อยโคมนะคะ” และมันก็เหมือนกันกับที่ทุกคนทุกหน่วยงานที่เชิญชวนให้ปล่อยโคมเพื่อสะเดาะเคราะห์ ทำบุญ สร้างบุญกุศลอะไรต่างๆ นานา ล้วนแล้วแต่สร้างชุดความเชื่อกันขึ้นมาเองทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเชื่อประเพณีล้านนาเลยแม้แต่น้อย แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมาก็ยกประเพณีล้านนาขึ้นมาเป็นเกราะบังหน้าก่อนเลย “มันเป็นประเพณีเก่าแก่โบราณนานมานะ มีมาก่อนเครื่องบินตั้งหลายร้อยปี เครื่องบินสิที่ควรหยุดบิน อย่ามาทำลายประเพณีดั้งเดิมนะ” .....บ้ากันไปแล้ว 


-ในวัฒนธรรมของล้านนา มีการสะเดาะห์เคราะห์หรือไม่ และพิธีเป็นอย่างไร
 
 วัฒนธรรมล้านนามีการส่งเคราะห์ เช่น เวลาใครเจ็บป่วยไม่สบาย ได้รับอุบัติเหตุ หรือช่วงปีใหม่เมืองหรือเทศกาลสงกรานต์ก็จะมีการทำนายตามโหราศาสตร์ว่าปีนี้ใครมีเคราะห์บ้าง ก็จะทำพิธีส่งเคราะห์ โดยจะทำกันที่บ้าน ก็จะทำสะตวงที่ทำจากกาบกล้วยมาทำเป็นกระทงสี่เหลี่ยม ข้างในก็เอากาบกล้วยมาขัดทำเป็นช่องๆ ข้างในสะตวงก็จะมีผลไม้ ข้าว แกง ของหวาน มีเครื่องประกอบพิธีต่างๆ ใส่อยู่ในสะตวงนั้น ถ้าจำไม่ผิดเหมือนจะต้องปั้นข้าวหรือดินให้เป็นรูปสัตว์ตามปีเกิดของคนที่จะส่งเคราะห์ แล้วปู่อาจารย์จะเป็นคนมาทำพิธีเพื่อปัดเคราะห์ ส่งเคราะห์ให้พ้นไปจากตัว แล้วเอาสะตวงไปทิ้งตามทางแยก ซึ่งรายละเอียดของการทำพิธีก็อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ แต่ละวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะคำว่าล้านนาก็ไม่ได้หมายถึงคนชาติพันธุ์เดียว แต่เอาชาติพันธุ์ไทนี่ก็ประกอบไปด้วยไทยวน ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน ยอง ซึ่งจะมีวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ต่างกันไปอีก 


-วัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิมที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบันโดยไม่ถูกบิดเบือน มีปรากฏในประเพณีใดหรือไม่

 จริงๆ แล้ววัฒนธรรมมันก็มีการเปลี่ยนแปลงกันไปตามยุคสมัยนะคะ เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วดั้งเดิมเลยนั้นประเพณีต่างๆ นั้นทำแบบที่เราทำหรือเปล่า สิ่งที่จะทำให้เรารู้ก็คือการศึกษาค้นคว้าทั้งหนังสือ เอกสารโบราณ คนเฒ่าคนแก่ น่าเสียดายที่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นไม่ได้ถูกผลักดันให้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ดังนั้นคนจึงมีความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมน้อยมาก พอมีความรู้น้อย พอได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลชั้นสามชั้นสี่ผ่านพิธีกรงานอีเวนต์ ผ่านนักข่าว ผ่านเว็บไซต์ ผ่านแม่ค้าขายโคม ฯลฯ ก็ดันพร้อมที่จะเชื่อง่ายโดยไม่คิดจะสืบค้นไปถึงข้อมูลชั้นต้น ดังนั้นประเพณีวัฒนธรรมที่เราเห็นในปัจจุบันถึงเปลี่ยนแปลงและถูกบิดเบือนไปมาก

ถ้าจะหาวัฒนธรรมประเพณีใดที่ไม่ถูกบิดเบือน ก็คงจะต้องไปดูตามชนบทที่คนยังใช้ชีวิตอยู่ตามวิถีเดิม ทำกันในชุมชนจริงๆ ไม่มีคนนอกหรือนักท่องเที่ยวเข้าไปยุ่มย่าม เพราะเมื่อไหร่ที่คนนอกเข้าไปและเริ่มเป็นที่นิยม ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย อย่างเช่น พิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะที่เชียงใหม่ที่ตอนนี้กลายเป็นกิจกรรมหนึ่งของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ไปแล้ว พี่เคยคุยกับนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะมาว่ามันเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ พี่เขาก็ว่ามันก็เปลี่ยนตั้งแต่พวกนักวิชาการเข้าไปศึกษานั่นแหละรวมทั้งที่พี่เขาไปด้วย เพราะดั้งเดิมนั้น ชาวบ้านเขาจะเรี่ยไรเงินไปซื้อควายมาฆ่ากันที่ดงหรือที่ประกอบพิธี โดยการฆ่านั้นจะต้องให้ควายดิ้นตายแล้วจะดูว่าทิศทางการล้มของควายจะหันหัวไปทางไหนเพื่อดูการเสี่ยงทายด้วย แต่หลังจากนักวิชาการเข้าไปศึกษา ก็เอาทัศนะของคนในเมืองเข้าไป มองว่าเป็นการทรมานสัตว์มากเกินไป เลยไปหามือฆ่าควายจากโรงฆ่าสัตว์มาแทงในจุดตาย ควายจะได้ไม่ทรมาน ต่อมาก็กลายเป็นไปเอาควายตายมาแล่ มาจัดท่าเองเลย พิธีกรรมเพื่อเสี่ยงทายก็เปลี่ยนไปและหายไป อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นถ้าจะตามหาประเพณีหรือวัฒนธรรมใดที่ดั้งเดิมจริง ไม่ถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงก็ควรจะไปดูในพื้นที่ที่ชาวบ้านเขาใช้ชีวิตตามวิถีของเขาจริงๆ 


-ปัญหาใหญ่ของการไม่เข้าใจที่มาทางวัฒนธรรมประเพณีคืออะไร
 
ปัญหาของการไม่เข้าใจที่มาของวัฒนธรรมก็คือความไม่รู้ ไม่รู้แล้วยังไม่สนใจศึกษาทั้งๆ ที่ความรู้มีอยู่รอบตัว อีกประการหนึ่งคือการศึกษาของเราไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องราวของวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคมเลย ตั้งแต่ประถมไปจนถึงมัธยม เน้นแต่วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หลักสูตรทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่ให้เด็กเรียนก็เป็นแบบเรียนที่เรียนเพื่อให้ผ่านไปเป็นปีๆ ท่องจำไปตอบข้อสอบแล้วก็จบ เนื้อหาก็ไม่ได้ทำให้ผู้เรียนเข้าใจถึงความเป็นท้องถิ่น ความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อยเลย อย่างเช่นตำราประวัติศาสตร์ไทย เรียนกันตั้งแต่ประถมว่าเริ่มจากสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ตอนเด็กๆ อ่านไปก็งงไป เริ่มจากกรุงสุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงอยู่กรุงเทพฯ แล้วฉันเกิดที่บ้านนอกของลำพูน เพื่อนบ้านใกล้เคียงก็มีเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แล้วฉันอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์ไทย ไม่เข้าใจเลยว่าปู่ย่าตายายของเรามีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ไทยไหม พอใกล้เทศกาลลอยกระทง ครูก็สอนว่านางนพมาศเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงลอยแม่น้ำเพื่อขอขมาพระแม่คงคา แล้วที่แถวบ้านฉันจุดผางประทีป ปล่อยโคมลม ฟังเทศน์มหาชาติล่ะ มันไม่มีส่วนร่วมอะไรกับนางนพมาศเลย 

มารู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนา วัฒนธรรมล้านนาอย่างเป็นแบบแผนจริงๆ ก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเรียนภาษาไทยแล้วต่อโทภาษาและวรรณกรรมล้านนา ได้เรียนจากเอกสารชั้นต้น ได้เรียนกับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านล้านนาจึงได้รู้ แต่ถามว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เรียนเหมือนเราล่ะ เขาจะรู้ไหม มันเป็นปัญหาทั้งระบบการศึกษาเลย ยิ่งเด็กสมัยนี้ที่การแข่งขันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมันสูงมากขึ้น การแข่งขันเพื่อจะทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองมันสูงมากขึ้น เรื่องราวที่ไม่ได้เป็นวิชาแกนหลักนี่เขายิ่งไม่สนใจ คนทำตำราก็ผลิตออกมาเพื่อให้เด็กท่องจำแต่ไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจ
 
ไปเปิดหนังสือประวัติศาสตร์ไทยของเด็กป.3 เนื้อหามันเบาหวิวมาก มีรูปชาวเขาทำไร่ชาแล้วเขียนอธิบายว่าภาคเหนือมีภูมิประเทศเป็นที่สูง จึงทำการเกษตรแบบนาขั้นบันได แค่นั้นจบ เด็กไทยทั่วประเทศก็คงเข้าใจว่าคนในภาคเหนือเป็นชาวเขามีอาชีพทำไร่ชาและคงไม่หลับไม่นอนกันเพราะกินชากันทั้งวัน บางโรงเรียนที่เคยเจอมานี่ สอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเด็กด้วยการร้องเพลงสาวเครือฟ้า ฟังแล้วน้ำตาตกในมาก แสดงว่าครูก็ไม่รู้เลยว่าเพลงสาวเครือฟ้ามันสร้างมาจากนวนิยายเรื่องสาวเครือฟ้าที่ประพันธ์ขึ้นโดยกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์ ซึ่งเรื่องสาวเครือฟ้าก็ดัดแปลงมาจากเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย มันไม่มีส่วนไหนเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังเป็นต้นกำเนิดของวาทกรรม “สาวเหนือใจง่าย” อีกต่างหาก ขนาดครูที่เป็นคนเหนือ คนท้องถิ่นยังคิดได้แค่นี้ แล้วจะเอาอะไรไปสอนเด็กให้คิดได้มากกว่านี้

ปัญหาของการไม่เข้าใจวัฒนธรรมมันมีสาเหตุที่โยงใยกันไปหมดอย่างที่ยกตัวอย่างมา ไม่รู้ ไม่ศึกษาแล้วยังถูกซ้ำเติมจากการคนที่จะหาประโยชน์จากวัฒนธรรมทำให้มันบิดเบือนมากขึ้นไปอีก 


-อาจารย์มองว่าทางออกควรจะเป็นอย่างไร 

มันใหญ่เนาะ การแก้ปัญหาเนี่ย ก็คงจะต้องเผยแพร่ให้ความรู้ในวงกว้างถึงความเชื่อและประเพณีที่ถูกต้อง ขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว ไกด์ คนในธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และทุกหน่วยงานที่ใช้โคมลอยมาหาประโยชน์ว่าเมื่อกระแสการปล่อยโคมลอยตอนนี้มันสร้างปัญหาอะไรบ้างซึ่งเริ่มหนักมากขึ้นทุกทีๆ เราควรจะช่วยกันงดปล่อยโคม และเลิกคิดเสียทีว่าการปล่อยโคมลอยคือการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก เพราะมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวัฒนธรรมล้านนาเลย มันคือ “วัฒนธรรมประดิษฐ์ใหม่” ที่อาจจะดูสวยงาม คนปล่อยโคมได้ชื่นใจที่เห็นโคมลอยเต็มฟ้า แต่คนที่ต้องทุกข์เพราะได้รับความเสียหายจากโคมลอยนั้นทุกข์หนักกว่ามาก

 

อาจารย์ธิตินัดดา จินาจันทร์ นักวิจัยกลุ่มล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog