ไม่พบผลการค้นหา
พลิกแฟ้มภาพ วันนี้เมื่อสิบปีก่อน แผ่นดินไหวรุนแรงนอกหมู่เกาะอินโดนีเซีย ส่งคลื่นยักษ์โถมกระหน่ำทั่วชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีผู้เสียชีวิต 220,000 คน

พลิกแฟ้มภาพ วันนี้เมื่อสิบปีก่อน แผ่นดินไหวรุนแรงนอกหมู่เกาะอินโดนีเซีย ส่งคลื่นยักษ์โถมกระหน่ำทั่วชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีผู้เสียชีวิต 220,000 คน

 

โศกนาฏกรรมในวันนั้น เกิดขึ้นอย่างไร ต่อไปนี้เป็นลำดับเหตุการณ์ ตามเวลาประเทศไทย

 

วันอาทิตย์ 26 ธันวาคม 2547

 

07.58 น.- ศูนย์ภูมิศาสตร์กายภาพในกรุงจาการ์ตา ตรวจพบแผ่นดินไหวระดับ 6.4 ตามมาตราริกเตอร์ มีศูนย์กลางในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเกาะสุมาตราไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 250 ก.ม. แรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้นต่อเนื่องจนวัดสูงสุดได้ 9.3 นับเป็นธรณีพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดของโลกในช่วงเวลา 40 ปี

 

08.14 น.- ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิก ที่ฮาวาย ตรวจพบแผ่นดินไหว

 

@  รายรอบมัสยิดที่บันดาอาเจะห์ เมืองเอกของจังหวัดอาเจะห์ ในอินโดนีเซีย เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง (ภาพเมื่อ 11 มกราคม 2548)

 

08.30 น.- สึนามิเข้าถล่มเกาะสุมาตรา หลายจุดในจังหวัดอาเจะห์เจอคลื่นสูงเกือบ 35 เมตร หมู่บ้านหลายสิบแห่งพังราบ ในเวลาต่อมา อินโดนีเซียพบยอดผู้เสียชีวิตหรือสูญหายทั้งสิ้นราว 170,000 คน ในจำนวนนี้ นับเฉพาะฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราได้ประมาณ 131,000 คน

 

หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดียในอ่าวเบงกอล ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว เป็นพื้นที่แรกๆที่ถูกคลื่นยักษ์ถาโถม 

 

@  ชาวบ้านที่เขาหลักจุดธูปคารวะดวงวิญญาณของน้องสาว ที่ถูกคลื่นสึนามิซัดลงทะเลขณะขายของแก่นักท่องเที่ยวทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ต (ภาพเมื่อ 29 ธันวาคม 2547)

 

09.30 น.- สึนามิเคลื่อนตัวถึงชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ภูเก็ต เขาหลัก พีพี ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากมายในช่วงสิ้นปี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน ครึ่งหนึ่งเป็นชาวต่างชาติจาก 37 ประเทศ และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 8,500 คน

 

พื้นที่ตอนใต้สุดของเมียนมาร์ ได้รับผลกระทบเช่นกัน มีผู้เสียชีวิต 61 คน คลื่นยังซัดไปถึงตอนใต้ของบังกลาเทศด้วย

 

10.00 น.- ที่ศรีลังกา คลื่นซัดใส่ตลอดแนวชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือถึงภาคใต้ของประเทศ ระยะทางกว่า 800 ก.ม. บ้านเรือนมากมายพังทลาย มีผู้เสียชีวิต 31,000 คน

 

@  ชาวอินเดียในค่ายรองรับผู้พลัดถิ่น ห่างจากเมืองมัทราสไปทางใต้ 200 ก.ม. โศกเศร้ากับความสูญเสียเพราะสึนามิ (ภาพเมื่อ 27 ธันวาคม 2547)

 

ที่อินเดีย มีผู้เสียชีวิตราว 16,400 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนในรัฐทมิฬนาดูทางตอนใต้

 

@  ชาวบ้านในรัฐทมิฬนาดู อินเดีย นั่งทอดอาลัยกับบ้านเรือนที่พังเพราะคลื่นยักษ์ (ภาพเมื่อ 1 มกราคม 2548)

 

มาเลเซียนับว่าโชคช่วย แนวเกาะสุมาตราขวางแนวคลื่นยักษ์ไว้ มีผู้เสียชีวิต 68 คน ส่วนใหญ่ที่เกาะปีนัง

 

11.00 น.- สึนามิไปไกลถึงหมู่เกาะมัลดิฟส์ พื้นที่สองในสามของกรุงมาเลถูกน้ำหลากท่วม แทบทุกเกาะที่มีอยู่ทั้งหมด 1,192 เกาะล้วนเจอคลื่นใหญ่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

 

@  คนหนุ่มสาวกำลังช่วยดึงชายคนหนึ่งขึ้นจากถนนที่ถูกน้ำท่วม ในเมืองบันดาอาเจะห์ ไม่นานหลังคลื่นสึนามิถล่ม (ภาพเมื่อ 26 ธันวาคม 2547)

 

14.00 น.- คลื่นยักษ์เดินทางถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวโซมาเลียเกือบ 300 คน ชาวแทนซาเนียอย่างน้อย 10 คน ชาวเคนยาโชคดีที่มีการอพยพ มีผู้เสียชีวิตแค่รายเดียว

 

16.00 น. คลื่นสูงไปถึงเกาะโรดริเกซ และเกาะมอริเชียส ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดความเสียหายทางวัตถุ

 

ตลอดวัน ตามสนามบินต่างๆทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะที่กรุงเทพ มีนักท่องเที่ยวนับหมื่นแออัด รอเดินทางกลับบ้าน รัฐบาลของประเทศต่างๆระดมความช่วยเหลือ

 

@  ชายชาวเมืองบันดาอาเจะห์ ยืนดูสภาพความเสียหาย หลังสึนามิถล่ม (ภาพเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2548)

 

21.30 น.- รายงานยอดผู้เสียชีวิตทั่วทั้งภูมิภาค เริ่มด้วยตัวเลข 5,400 ราย แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 30 ธันวาคม ตัวเลขทะลุ 120,000 คน เมื่อถึงวันที่ 5 มกราคม ยอดเพิ่มเป็น 146,000 ราย ในวันที่ 13 มกราคม เพิ่มเป็น 160,000 ราย กระทั่งตัวเลขสุดท้ายมีผู้วายชนม์กว่า 220,000 ราย

 

วันจันทร์ 27 ธันวาคม 2557

 

@  เด็กๆชาวอาเจะห์ รับของแจกจากเฮลิคอปเตอร์ของออสเตรเลีย (ภาพเมื่อ 17 มกราคม 2548)

 

เช้าวันรุ่งขึ้น ตามชายหาดเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และร่างผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครออกค้นหาผู้รอดชีวิต

 

นานาชาติและองค์การระหว่างประเทศ แจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ เครื่องบินเริ่มขนอาหาร เวชภัณฑ์ เจ้าหน้าที่กู้ชีพ เดินทางมุ่งหน้าพื้นที่ภัยพิบัติ.

 

Source: AFP

Photo: AP

 

 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog