จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิเมื่อปี 2004 มากที่สุด วันนี้เราจะไปดูกันว่า 10 ปีหลังจากเกิดเหตุสึนามิ อาเจะห์สามารถฟื้นฟูด้านต่างๆไปได้มากน้อยเท่าไหร่ และมีความพร้อมแค่ไหน หากต้องเผชิญกับมหันตภัยร้ายแรงนี้อีกครั้ง
สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ได้กลืนทั้งชีวิตและบ้านเรือนในแถบชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย 14 ประเทศ โดยประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย เนื่องจากอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด และมีผู้อาศัยอยู่ตามชายฝั่งหนาแน่น โดยเฉพาะในจังหวัดอาเจะห์ เขตปกครองพิเศษทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ที่มีผู้เสียชีวิตไปถึง 167,000 ราย โดยถ้านับเฉพาะที่เมืองบันดา อาเจะห์ เมืองหลวงของจังหวัดอาเจะห์เพียงแห่งเดียว มีผู้เสียชีวิตไปมากถึง 31,000 ราย
ศพของผู้เสียชีวิตจากเหตุสึนามิครั้งนั้นเกลื่อนกลาดไปทั่วเมือง จนทางการบันดาอาเจะห์ต้องสั่งฝั่งกลบศพเหล่านั้น โดยไม่รอให้มีการพิสูจน์อัตลักษณ์เสียก่อน เพื่อให้สภาพเมืองกลับมามีสุขอนามัยที่ดีให้ได้เร็วที่สุด ก่อนที่ศพจะเน่าและเกิดเชื้อโรคตามมา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง
ความสูญเสียอย่างหนักจากสึนามิครั้งนั้น ทำให้ชาวอาเจะห์ได้รับในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นั่นก็คือ ความปรองดอง ในวันที่ 27 ธันวาคม หลังเกิดเหตุสึนามิ 1 วัน รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ประกาศยกเลิกการห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างชาติเดินทางไปยังอาเจะห์ ที่ทำให้การช่วยเหลือล่าช้ามาก
แม้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและขบวนการอาเจะห์เสรี ขบวนการเรียกร้องเอกราชในอาเจะห์ จะไม่ได้หายไปในพริบตาหลังเกิดสึนามิ แต่ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติได้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และจับตามองกระบวนการปรองดองได้ชัดเจนขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในกองทัพอินโดนีเซีย จึงทำให้สามารถบรรลุข้อตกลงสงบศึกระหว่างรัฐบาลและขบวนการอาเจะห์เสรีได้สำเร็จในปีต่อมา
10 ปีหลังเหตุสึนามิ บ้านเรือน สะพานและถนนหนทางถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ชายหาดและต้นไม้ต่างๆ เริ่มฟื้นฟูกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลล่าร์ นับว่าสิ่งก่อสร้างต่างๆในบันดาอาเจะห์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมามาก เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆที่ประสบภัยสึนามิเหมือนกัน แต่ได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีร่องรอยความเสียหายจากสึนามิ ที่คอยย้ำเตือนความทรงจำอันเลวร้ายครั้งนั้น แต่ก็เป็นสถานที่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น Apung 1 เรือปั่นไฟฟ้าที่ถูกสึนามิซัดจากทะเลขึ้นมาอยู่บนพื้นดินห่างจากชายฝั่งหลายกิโลเมตร
แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก แต่ไม่มีการพัฒนาเลยในอาเจะห์ ก็คือ มาตรการป้องกันสึนามิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีบันดุงของอินโดนีเซีย กล่าวว่า หากเกิดสึนามิที่มีความรุนแรงเท่าเมื่อปี 2004 ความเสียหายจะเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆไม่ได้รับการดูแล แม้แต่ทุ่นตรวจจับสึนามิในอินโดนีเซีย ซึ่งมีอยู่ 9 ทุ่น ตอนนี้เหลือรอดจากการสูญหายหรือชำรุดโดยฝีมือชาวประมงท้องถิ่นเพียง 1 ทุ่น และทุ่นหนึ่งเดียวนี้ก็ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทุ่นเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายเครื่องมือที่ช่วยตรวจจับความเสี่ยงที่จะเกิดสึนามิ การที่พวกมันใช้การไม่ได้จึงยังไม่น่ากังวลเท่ากับอีกปัญหา นั่นก็คือการที่รัฐบาลหลายประเทศ ยังไม่สามารถส่งผ่านคำเตือนไปยังชุมชนท้องถิ่น ให้อพยพประชาชนได้ทันท่วงที