ไม่พบผลการค้นหา
จากคำสั่งของศาลโลก เรื่องมาตรการชั่วคราวให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ที่กำหนด หรือ เขตปลอดทหาร ได้เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลก

จากคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เรื่องมาตรการชั่วคราวให้ไทยและกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ที่กำหนด หรือที่เรียกว่า เขตปลอดทหารนั้น  กรณีนี้ เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

 

ในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก มีข้อหนึ่ง ระบุให้ทั้งไทยและกัมพูชา ถอนทหารออกจากพื้นที่ประมาณ 3.7 ตารางกิโลเมตร  โดยให้เป็นเขตปลอดทหารนั้น   การกำหนดพื้นที่ลักษณะนี้  เป็นแนวทางที่นิยมใช้ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสองประเทศขึ้นไป 


และมักตั้งขึ้นบริเวณจุดเผชิญหน้าหรือเส้นเขตแดนระหว่างคู่ขัดแย้งหรือพันธมิตรของคู่ขัดแย้ง เพื่อห้ามไม่ให้มีการทำกิจกรรมทางการทหารภายในบริเวณดังกล่าว โดยถือว่าพื้นที่ปลอดทหารเป็นเส้นเขตแดนสากลในทางปฏิบัติ และมักจะเป็นบริเวณที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบครอง


ในปัจจุบัน มีพื้นที่ที่เป็นเขตปลอดทหารทั้งสิ้น 11 แห่งทั่วโลก คือ รั้วเขตแดนซูตา และรั้วเขตแดนเมลิลลา ซึ่งกั้นระหว่างประเทศโมร็อกโก กับเขตซูตาและเมลิลลาในประเทศสเปน  เขตแอนตาร์กติกา ซึ่งมาตราที่ 1 ของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกา ห้ามไม่ให้มีกิจกรรมทางการทหารในบริเวณดังกล่าว  ด่านคูเวต-อิรัก  คาบสมุทรซีนาย ระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล  เขตกองกำลังสังเกตการณ์อิสระแห่งสหประชาชาติ ระหว่างที่ราบสูงโกลันกับประเทศซีเรีย  เขตปลอดทหารไซปริออต ซึ่งกั้นระหว่างบริเวณแบ่งแยกดินแดนสาธารณรัฐเตอร์กิชแห่งไซปรัสเหนือ กับประเทศไซปรัส  เกาะโอแลนด์  เขตกันชนระหว่างประเทศมอลโดวากับเขตปกครองตัวเองทรานส์นิสเตรีย  เขตปลอดภัยทางพื้นดิน ระหว่างเซอร์เบียกับโคโซโว  และเขตสวาลบาร์ด ซึ่งเป็นเขตปลอดทหารแห่งเดียวในปัจจุบัน ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่ง

 
ในขณะที่เขตปลอดทหารที่มีผู้คนรู้จักมากที่สุด คือ เขตปลอดทหารเกาหลี ซึ่งได้รับการกำหนดขึ้น หลังจากที่เกาหลีเหนือรุกล้ำเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ ลงมายังพื้นที่ของเกาหลีใต้ เมื่อสามารถดันกองกำลังของเกาหลีเหนือกลับไปยังเหนือเส้นขนาดที่ 38 องศาเหนือได้สำเร็จ จึงมีการทำสัญญาหยุดยิง ซึ่งกำหนดให้ทั้งสองประเทศ คงเขตแดนของตนไว้ตามแนวเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ และกำหนดเขตปลอดทหารในระยะ 4 กิโลเมตร เป็นกันชนตามแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศ


โดยบริเวณแนวปักปันเขตแดนทางทหาร เป็นที่ตั้งของพื้นที่ความมั่นคงร่วม ซึ่งทหารของทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะยืนประจันหน้า ป้องกันเส้นเขตแดนของกันและกัน โดยที่โต๊ะประชุมที่ทั้งสองฝ่ายใช้เจรจาร่วมกันทุกครั้งในห้องประชุมที่พื้นที่ความมั่นคงร่วม จะตั้งอยู่ทับเส้นเขตแดนพอดี


อย่างไรก็ตาม มีการค้นพบอุโมงค์ถึง 4 อุโมงค์ อยู่ภายในเขตปลอดทหารแห่งนี้ เชื่อว่าเกาหลีเหนือเป็นผู้ขุดอุโมงค์ดังกล่าว ด้วยจุดประสงค์ทางการทหาร แต่หลังจากค้นพบ ก็ได้มีการเปิดอุโมงค์ที่ 2 , 3 และ 4 ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมได้ตามปกติ


แม้ว่าเขตปลอดทหาร จะไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศยุติลง แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่า การแก้ปัญหาจะเป็นไปอย่างสงบ ไม่ว่าจะเป็นผ่านการเจรจาทางการทูต หรือการขึ้นศาลระหว่างประเทศ

Produced by VoiceTV

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog