ไม่พบผลการค้นหา
รู้หรือไม่ว่า :
  • หลัง 2475 ในช่วงแรกของชีวิตประชาธิปไตยไทย เรายังไม่รู้จักคำว่า 'พรรคการเมือง' จะมีก็แต่ 'สมาคมคณะราษฎร' ที่จดทะเบียนตามกฎหมาย มีพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์เป็นนายกสมาคม เขาคนนี้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาล และเป็นหัวเรือใหญ่ในการขยายหลัก 6 ประการของคณะราษฎร์ สมาคมนี้สามารถรวบรวมสมาชิกได้นับแสนคนในเวลาไม่กี่เดือน  
  • "การรวบรวมกันตั้งเป็นคณะพรรคการเมืองขึ้นนั้น มิได้มีความประสงค์อื่นใด นอกจากอุดมคติในปั้นปลายที่จะอำนวยการปกครองประเทศไปในที่ตนมีความคิดเห็นร่วมกันว่า เป็นประโยชน์ยิ่งแก่ประเทศชาติ รวมตลอดจนถึงประชากรส่วนรวมของประเทศด้วย” พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์เคยเขียนบทความอธิบาย
  • เมื่อฝ่ายก้าวหน้ามีสมาคมคณะราษฎร ฝ่ายอนุรักษ์นิยม/กษัตริย์นิยมก็พยายามก่อตั้ง 'คณะชาติ' ขึ้นมาสู้  ด้าน ปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎร์คนสำคัญนั้นไม่ขัดข้อง แต่เมื่อไปขอจัดตั้งสมาคมกับรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกลับไม่เห็นพ้องด้วย ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ไว้ว่า เป็นไปได้ว่าพระยามโนฯ อ้างอิงพระราชหัตเลขาฯ ของ ร.7 ที่ (ขณะนั้น) ยังไม่อยากให้มีสมาคมการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด

"ประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจวิธีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเสียเลย เมื่อเกิดมีคณะการเมืองขึ้นแข่งขันกัน เช่นนี้ ก็จะเข้าใจผิดไปว่าเป็นการตั้งหมู่ตั้งคณะ สำหรับเป็นปรปักษ์หักล้างอำนาจซึ่งกันและกัน ผลที่สุดอาจเป็นชนวนให้เกิดวิวาทบาดหมางกันขึ้นได้อย่างรุนแรง" ความตอนหนึ่งในพระราชบันทึก

การยกเลิกสมาคมคณะราษฎร์ทำได้จริงหลังมีปัญหาประเด็น 'เค้าโครงเศรษฐกิจ' ของปรีดี พนมยงค์ และนำไปสู่ความขัดแย้งอันอลหม่านตามมาอีกมากอันเกี่ยวพันกับวาทกรรม ‘คอมมิวนิสต์’

  • การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2476 แต่เมื่อยังไม่มีพรรคการเมือง ส.ส.ที่ได้รับเลือกเข้ามาจึงเป็น ส.ส.อิสระ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วบางส่วนก็รวมกันเป็นกลุ่มก้อนสนับสนุนทั้งฝ่ายอำนาจใหม่-อำนาจเก่า และช่วงเวลานี้เองที่ 'ตัวแทนประชาชน' ได้สำแดงอิทธิฤทธิ์ ทำให้เห็นว่า 'ฝ่ายค้าน' ที่ดีนั้นสำคัญแค่ไหนในการปกครอง เพราะสามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบหลายเรื่องที่สำคัญ กระทั่งโหวตในสภาชนะฝ่ายรัฐบาลในหลายประเด็น
  • การจะตั้งพรรคการเมืองได้จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองขึ้นมาโดยเฉพาะ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใช้เวลาถึง 14 ปี กว่าจะมีกฎหมายพรรคการเมือง อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้อย่างเป็นระบบระเบียบ ระหว่างนั้นมีความพยายามของส.ส.ที่เสนอกฎหมายพรรคการเมืองถึง 5 ครั้งแต่ก็ไม่ผ่านสภาและพอดีกับมีรัฐประหารบ้าง สงครามโลกครั้งที่สองบ้าง

1. นายดาบ ยู่เกียง ทองลงยา (เสนอปี 2476)

2. นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร

3. เจ้าคุณวิฑุรธรรมพิเนต ส.ส.อุทัยธานี

4. นายดุสิต บุญธรรม ส.ส.ปราจีนบุรี

5. นายเทพ โชตินุชิต ส.ส.ศรีสะเกษ (เสนอปี 2496)

  • ประเทศไทยมีกฎหมายพรรคการเมืองจริงๆ ในปี 2498 ก่อนหน้านี้มีกลุ่มการเมืองอยู่ก่อนแล้วแค่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เช่น พรรคก้าวหน้า พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคชาติสังคมประชาธิปไตย และพรรคกสิกรรมกร เมื่อมีกฎหมายรองรับ พรรคการเมืองพรรคแรกที่จดทะเบียน คือ 'พรรคเสรีมนังคศิลา' ของจอมพล ป. ถือกำเนิดตามมาติดๆ ห่างกัน 1 วันคือ 'พรรคประชาธิปัตย์'
  • ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่มีมาตั้งแต่ 2485 อย่างไรเสียก็ไม่ได้รับการรับรองให้ถูกกฎหมาย แม้ในช่วงแรก พคท.ยังไม่ได้ประกาศจับอาวุธ เว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าในระยะเริ่มแรก พ.ค.ท.มีบทบาทในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาในยุคหลังสงครามโลกด้วย
  • หลังจากนั้นมีพรรคการเมืองต่างๆ ผุดขึ้นมากมาย มีการลงเลือกตั้ง ข้อครหาเรื่องเลือกตั้งสกปรก และกระทั่งบรรพบุรุษ 'งูเห่า' อย่างไรก็ตาม แบบฝึกหัดของพรรคการเมืองต่างๆ มีอายุอยู่ได้แค่ 3 ปีเศษ จากนั้นการเมืองไทยก็เข้าสู่การครอบงำของระบอบทหารยุคสฤษดิ์ แม้จะมีการเลือกตั้งคั่นอยู่บ้าง
  • ต้องกล่าวด้วยว่า 90 ปีของประชาธิปไตยไทย มีรัฐประหารเกิดขึ้น 13 ครั้ง โดยมากเมื่อมีการรัฐประหาร คณะผู้ยึดอำนาจก็จะยุบพรรคหรือสั่งยุติบทบาทของพรรคการเมืองทั้งหมด จะกี่ปีก็ว่ากันไปตามความเข้มข้นของความเป็นเผด็จการ กรณีล่าสุด รัฐประหาร 2557 พรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องเป็นอัมพาตไปอย่างน้อย 5 ปี
  • ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักประวัติศาสตร์เคยรวบรวมคำสั่งยุบพรรคหรือให้พรรคการเมืองยุติบทบาทในการรัฐประหารครั้งต่างๆ รวมแล้ว 209 พรรค

รัฐประหารครั้งที่ 1 : 1 เมษายน 2476 สั่งยุบ 1 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 5 : 29 พฤศจิกายน 2494 สั่งยุบ 10 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 7 : 20 ตุลาคม 2501 สั่งยุบ 28 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 8 : 17 พฤศจิกายน 2514 สั่งยุบ 17 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 9 : 6 ตุลาคม 2519 สั่งยุบ 54 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 11 : 23 กุมภาพันธ์ 2534 สั่งยุติบทบาท 20 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 12 : 19 กันยายน 2549 สั่งยุติบทบาท 36 พรรคการเมือง

รัฐประหารครั้งที่ 13 : 22 พฤษภาคม 2557 สั่งยุติบทบาท 40 พรรคการเมือง

  • ประจักษ์ ก้องกีรติ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ในช่วงแรกผู้นำทหารนิยมตั้งพรรคการเมืองเอง เพื่อสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย แต่นายทหารรุ่นหลังที่ทำรัฐประหารทั้งในปี 2534 และ 2549 หันไปใช้โมเดลการสร้างพรรคนอมินีขึ้นมาแทน คือ ให้พลเรือนจัดตั้งพรรคการเมืองลงแข่งเลือกตั้งแทนที่จะเป็นพรรคสีเขียวของคนในเครื่องแบบ แต่กระแสตอบรับของประชาชนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จดังใจหมาย
  • ทศวรรษ 2520-2530 ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองน้ำเน่า ส.ส.ขายตัว รัฐบาลก็ขาดเสถียรภาพ ผลักดันนโยบายอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จะอยู่ให้ครบเทอมก็ยังยาก
  • จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ พรรคการเมืองและการเลือกตั้งมีความหมายขึ้นมาจริงๆ คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ออกแบบโครงสร้างทางการเมืองใหม่ สร้างระบบการเลือกตั้งที่เอื้อต่อรัฐบาลที่เข้มแข็ง พร้อมๆ กันนั้นก็มีระบบตรวจสอบโดยตั้งองค์กรอิสระมากมาย และรับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนกว้างขวางด้วย ผลลัพธ์ของ 'การปฏิรูปการเมือง' จากรัฐธรรมนูญนี้ได้ทำให้เกิดพรรคที่แข็งแกร่งอย่างพรรคไทยรักไทย และรัฐบาลเสถียรภาพสูงภายใต้นายกฯ ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
  • พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มแข่งขันในทางนโยบายหลังจากประชาชนได้รับรู้แล้วว่าการผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นจริงหน้าตาเป็นเช่นไร แต่การรัฐประหารยังคงเป็นมรดกที่ไม่เคยสูญสิ้น บนเส้นทางการเรียนรู้เกี่ยวประชาธิปไตยที่อาจมีสิ่งผิดพลาดระหว่างทางอยู่บ้างนั้น ถูกตัดตอนด้วยการรัฐประหารเป็นระยะ ประกอบกับเครื่องมือใหม่ขององค์กรอิสระ - ศาลรัฐธรรมนูญ อย่างการยุบพรรค
  • มีการรวบรวมสถิติว่า นับตั้งแต่มีศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 มีการยุบพรรคไปทั้งสิ้น 110 พรรค โดยมากเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่ก็ในจำนวนนี้ก็มีการวินิจฉัยยุบพรรคด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองไทยอย่างหนักอยู่หลายพรรคตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549
  • เรื่องการยุบพรรค เป็นประเด็นที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านพยายามแก้ไขด้วยใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่รัฐสภามีการพิจารณาเมื่อวันที่ 24-25 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา เสนอสภารวมแล้ว 6 ร่าง ร่างของฝ่ายค้าน 3 ฉบับคือ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคต พรรคประชาชาติ ล้วนมีการแก้ไขหลากหลายประเด็นที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาพรรคการเมืองเพิ่มเติมเข้าไป แม้เหตุผลหลักที่มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (และพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.) จะเป็นเพราะมีการแก้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบก็ตาม
  • เรื่องที่ร่างพรรคฝ่ายค้านเสนอแก้เพิ่มเติมก็เช่น เรื่องไพมารีโหวตที่เป็นภาระสำหรับพรรคเล็ก และดูจะเป็นเพียง ‘พิธีกรรม’ การมีส่วนร่วม เรื่องคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมืองที่สูงเกินไป เรื่องค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นมิตรต่อคนยากคนจน (ตลอดชีพ 2,000/ ต่อปี 200) เรื่องเพิ่มความรับผิดชอบของ กกต. เพิ่มอุปสรรคการย้ายพรรคโดยเพิ่มเงื่อนไขการรับ ส.ส.ที่พ้นสมาชิกภาพเข้าพรรคการเมืองใดๆ เพื่อลดอำนาจ ส.ส.งูเห่าในการต่อรองกับพรรค  ฯลฯ
  • ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองของฝ่ายค้านทั้ง 3 ฉบับ ไม่ผ่านการรับรองของรัฐสภา โดยเฉพาะในบรรดาส.ว. ผ่านเพียงเฉพาะร่างของ ครม.และพรรค พปชร.เท่านั้น
  • ข้อสรุปที่น่าสนใจที่สุดของส.ส.หลายคนคือ แม้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2561 จะเขียนไว้สวยหรู เพื่อกำกับและมุ่งหวังให้พรรคการเมืองพัฒนา แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดต่อการพัฒนาก็คือ การรัฐประหาร ดังที่สุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายไว้ว่า มันคือ ‘การฆ่าตัดตอน’ พัฒนาการของระบบพรรคการเมือง และเหตุดังนั้น พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลจึงยังไม่พร้อมทำไพมารีโหวต
  • “ท่านรู้ไหมว่าข้อเท็จจริงในไทย คำว่า สมาชิกพรรคการเมือง ของไทยไม่เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว อย่างอเมริกา อังกฤษ สมาชิกพรรคการเมืองของไทยน่าสงสารมาก เป็นสมาชิกแบบล้มลุก สมาชิกที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ต้องมีระยะเวลา มีกิจกรรมร่วม และเรียนรู้กับพรรคนั้นต่อเนื่องยาวนานพอควร จึงจะเป็นสมาชิกแท้จริงของพรรค อยู่ดีๆ ก็ยุบพรรค หายไปดื้อ อยู่ไปดีๆ ก็ยึดอำนาจรัฐประหาร หายไปอีก สมาชิกทุกพรรคที่อยู่วันนี้ อยู่แบบลุ่มๆ ดอนๆ ผลุบๆ โผล่ๆ เกิดๆ ตายๆ สมาชิกของเราจะให้มีอุดมการณ์ ต้องผ่านการทำงาน เรียนรู้ร่วมกันพอสมควร จึงจะผลักดันสิ่งต่างๆ เดินร่วมกันไปได้ มันควรมีระยะเวลาพอสมควร ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกยาวนาน สมมติวันนี้ทำไพรมารีโหวต สมาชิกที่มาสมัครเป็นพรรคอื่นส่งมาหรือเปล่า ร้อยกว่าคนก็ทำไพมารีโหวตได้ ได้แล้วจะป่วนเราหรือเปล่า ถ้าให้เวลาเราพิสูจน์กันหน่อย มันกลั่นได้ มันกรองได้ แล้วใครเป็นคนทำให้สมาชิกเวียนว่ายตายเกิด ผลุบๆ โผล่ๆ นั่นก็คือ การยึดอำนาจ มีงานวิจัยต่างชาติมากมายที่ศึกษาเรื่องประชาธิปไตยไทยอ่อนแอ พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะพรรคการเมืองถูกฆ่าตัดตอนบ่อยที่สุด ยุบพรรคทีก็บ้านแตกสาแหรกขาด ไปคนละทิศคนละทาง” สุทินกล่าว

ที่มา :

-คำอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2496 พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ปลด ปลดปรปักษ์ พิบูลภานุวัธน์ วันที่ 17 สิงหาคม 2496

-วิทยานิพนธ์เรื่อง ระบบพรรคการเมืองไทย : ศึกษาเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ ระหว่างยุคก่อนปฏิวัติ พ.ศ.2501 กับสมัยปัจจุบัน โดย นายวิทยา นภาศิริกุลกิจ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 

-ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 : ศึกษากรณีการยุบพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการกระทำความผิด https://kpi.ac.th/knowledge/research/data/1232

-ชะตากรรม “พรรคเสรีมนังคศิลา” ก่อตั้งแรกสุด ถูกยุบแรกสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย https://www.silpa-mag.com/history/article_45761

-อดีตและอนาคตของพรรคทหาร : ประวัติศาสตร์ฉบับย่อ https://www.the101.world/military-party/

-การเมืองเรื่องยุบพรรคการเมือง https://www.the101.world/dissolution-of-political-party/