ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับรางวัลพิเศษจากสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย เกิดขึ้นได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่การทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับรางวัลพิเศษจากสถานทูตฝรั่งเศสในประเทศไทย เกิดขึ้นได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น แต่การทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมคุมขังภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้ฝรั่งเศสมอบรางวัลนี้ให้ 

"ปัจจุบัน ทุกวันก็ยังมีกรณีถูกจับ ข่มขู่ คุกคาม และก็มีการดำเนินคดี ก็คือนำพลเรือนดำเนินคดีในศาลทหาร หลายคนก็ยังถูกจองจำ เพียงเพราะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด แสดงออกความคิดซึ่งทางการเมือง และต้องการประชาธิปไตย"

นี่คือมุมมองต่อสถานการณ์ในประเทศไทยของ  เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความผู้ก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ซึ่งได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนจากสถานทูตฝรั่งเศส ในโอกาสวันสิทธิมนุษยชนสากลซึ่งตรงกับ 10 ธันวาคมของทุกปี จากผลงานการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุมภายใต้กฎอัยการศึก หลังรัฐประหาร

ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนมากถูกเรียกรายงานตัว จับกุมคุมขัง และดำเนินคดีด้วยเหตุทางการเมือง โดยทหารและตำรวจใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เข้าควบคุมตัวบุคคลได้ทุกเวลา และกักตัวได้นาน 7 วัน 

สถานการณ์นี้ทำให้เยาวลักษณ์และนักกฎหมายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน  รวมตัวกันก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม   เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ถูกจับกุม โดยเปิดฮอตไลน์ ให้ประชาชนโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือ เมื่อมีผู้ถูกจับกุม 

ทันทีที่ได้รับแจ้งข้อมูล  ทางศูนย์จะส่งทนายไปให้ความช่วยเหลือ อธิบายสิทธิทางกฏหมาย หรือประสานเรื่องการประกันตัว ซึ่งคดีส่วนใหญ่  เกี่ยวกับการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร

ศูนย์ทนายมีทีมงานประจำศูนย์ 6 คน มีทนายความ และอาสาสมัครร่วมงานกว่า 10 คน หนึ่งในนั้นคือ อานนท์ นำภา ซึ่งว่าความให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ที่ถูกจับกุมหลังรัฐประหาร

หลังก่อตั้งศูนย์  มีองค์กรส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ให้การสนับสนุนเรื่องบุคคลากรและงบประมาณ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สหประชาชาติ สหภาพยุโรป และ Open Society Foundation ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในสหรัฐอเมริกา

ขณะนี้มี 21 คดีที่ทางศูนย์กำลังให้ความช่วยเหลือ  ในจำนวนนี้มี 11 คดีที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112

เยาวลักษณ์เผยว่า การจับกุมประชาชนไปคุมขัง 7 วันโดยใช้อำนาจกฎอัยการศึก ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ให้ทนายหรือญาติเข้าพบผู้ถูกจับ และไม่เปิดเผยสถานที่คุมขัง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือทำให้สูญหาย ทางศูนย์จึงต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

"คือเราได้รับแจ้งว่าเขาถูกทหารปิดล้อมตรวจค้นและนำตัวไป ปรากฏว่า 7 วันแล้วทหารยังไม่ปล่อย และเราก็ไม่รู้ว่าควบคุมตัวที่ไหนแต่รู้ว่ามีการนำตัวไป อันนี้เราก็จะติดตามไปโรงพักบ้าง ติดตามไปยังค่ายทหารบ้าง และมีอยู่กรณีนึง ศูนย์เลยออกแถลงการณ์ว่าคนคนนี้ถูกนำตัวไป มีพยานหลักฐานยืนยัน ถ้าไม่นำตัวมาแสดงตน อาจถือว่าเขาถูกบังคับให้สูญหาย หรือกระทำทรมานในช่วงควบคุมตัว ไม่กี่วัน วันรุ่งขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารก็นำตัวมาแถลงข่าว"

 ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 60 ปีก่อน ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ มีมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาระบุชัดเจนว่าบุคคลใดจะถูกกระทำการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้  และประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 48 ประเทศแรกที่ร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้    

แต่หลายการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แสดงให้เห็นว่าปฏิญญาดังกล่าวไม่มีผลต่อการใช้อำนาจรัฐ สิทธิมนุษยชนยังเป็นประเด็นที่สังคมไทยมองข้ามเสมอมา

"สังคมไทยอาจจะคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรง จริงๆคือสังคมไทยและสังคมเอเชียคุ้นเคยกับการใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด และอาจไปมองว่ามันเป็นวัฒนธรรม และเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆของบ้านเรามันไม่เคยมีการทบทวน ไม่เคยมีการดำเนินคดีกับคนกระทำความผิด ทำให้บ้านเราเกิดกรณีที่คนกระทำผิดลอยนวลตลอดเวลา"
     
เยาวลักษณ์ยืนยันว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะทำงานต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ  แม้ คสช. จะยกเลิกกฎอัยการศึก ก็ทางศุนย์จะให้ความช่วยเหลือลูกความในคดีที่ใช้เวลาพิจารณายาวนาน  จึงยังไม่มีคำตอบว่า การช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog