จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือว่ามีความพร้อมในการพัฒนาสนามบินภูมิภาค เพราะมีพื้นที่พร้อมใช้งานและไม่ต้องเวนคืน และหากพัฒนาแล้วเสร็จ ก็จะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีจังหวัด ขยายตัวประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
พื้นที่ขนาด 1 พัน 85 ไร่แห่งนี้ ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 18 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของสนามบินวังยาง เพื่อใช้ขนส่งทางอากาศในการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ และเปิดใช้บริการเชิงพาณิชย์อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนถูกปิดในปี 2518 เพราะมีภาระขาดทุนสะสม
เมื่อกระทรวงคมนาคม ประกาศแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาคในจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงเป็นโอกาสที่จะพลิกฟื้นที่ดินแห่งนี้ ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
ด้วยขนาดพื้นที่ตั้งและรันเวย์ที่มีอยู่เดิม ช่วยลดต้นทุนการก่อสร้าง โดยเฉพาะการเวนคืนที่ดิน เพียงแต่ปรับสภาพพื้นที่ ลงทุนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และหอบังคับการบิน ก็เพียงพอต่อการเปิดให้บริการแล้ว
การพัฒนาท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของจังหวัด ช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ หนุนให้จีดีพีมีโอกาสขยายตัว 5-6 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปี รวมถึงลดต้นทุนในการเดินทางไปใช้ท่าอากาศยานพิษณุโลก
ขณะที่ประชาชนในจังหวัด มองว่าหากมีสนามบิน จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น ช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เติบโต
ด้านกรมการบินพลเรือน กำลังรวบรวมข้อมูล ทั้งจำนวนประชากร รายได้ต่อหัว แหล่งท่องเที่ยวและการค้า เพื่อใช้ประกอบการกำหนดรูปแบบท่าอากาศยาน และเชื่อว่าหากเปิดให้บริการอีกครั้งจริง จะไม่ขาดทุนจนต้องปิดสนามบินเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีทางเลือก เช่น สายการบินโลวคอร์สให้บริการ
ปัจจุบัน พื้นที่สนามบินอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลผาจุก และพื้นที่ 700 ไร่จากทั้งหมด ได้ถูกใช้งานในโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งกรมการบินฯ ต้องประสานงานอีกครั้ง หากจะมีการพัฒนาท่าอากาศยาน
หากมีการพัฒนาจริง จะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาออกแบบและก่อสร้าง ทั้งทางวิ่ง ลานขับ ทางจอด และอาคารที่พักผู้โดยสาร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ จะใช้เวลาอีก 3-5 ปี ท่าอากาศยานจึงพร้อมใช้งาน