ไม่พบผลการค้นหา

World

สองมาตรฐานของสองสีผิว
Dec 10, 2014
( Last update Dec 10, 2014 01:33 )
Rights Watch ประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2557

Rights Watch ประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2557

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะลูกขุนเกาะสแตเทน นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ สั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่แดเนียล แพนทาลีโอ ตำรวจผิวขาวของกรมตำรวจนครนิวยอร์ก ที่ก่อเหตุรัดคอนายเอริก การ์เนอร์ ชายผิวดำจนเสียชีวิต หลังเขาขัดขืนการใส่กุญแจมือ และไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้น ในข้อหาขายบุหรี่หนีภาษี ท่ามกลางการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ

คำอธิบายเหตุผลว่า ทำไมเจ้าหน้าที่แพนทาลีโอถึงไม่ผิด แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุก็คือ คำอธิบายว่า นายการ์เนอร์กระทำผิดกฎหมาย ในการลักลอบขายบุหรี่หนีภาษี มีประวัติการก่ออาชญากรรมและถูกจับกุมหลายสิบครั้ง รวมทั้ง ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครปฏิเสธการกระทำผิดกฎหมายของนายการ์เนอร์ได้
 
นายบ็อบ แม็คมานัส คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ออกความเห็นว่า การเสียชีวิตของนายการ์เนอร์คล้ายคลึงกับการเสียชีวิตของนายไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นชายผิวดำซึ่งถูกตำรวจเมืองเฟอร์กูสันยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และคณะลูกขุนก็สั่งไม่ฟ้องเช่นกัน โดยในวันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ทั้งคู่ต่างกระทำผิดกฎหมายที่แม้จะไม่รุนแรงนัก แต่ก็เป็นเหตุผลมากพอที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการตามกฎหมาย 

คำตัดสินของคณะลูกขุนหรือคำอธิบายด้วยเหตุผลเช่นนี้ เหมือนเป็นการโยนความผิดให้แก่ผู้ตายเพียงอย่างเดียว ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับมวลชนเป็นจำนวนมากที่มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองคดีเป็นเรื่อง "สองมาตรฐาน" และ "เรื่องเหยียดสีผิว" ของกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ทำให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันจำนวนมากได้ออกแคมเปญด้วยการติดแฮชแท็ก #CrimingWhileWhite พร้อมด้วยข้อความเสียดสีต่างๆนานา เช่น คนขาวได้รับสิทธิให้เดินถือปืนไปทั่ว แถมยังยิงคนดำเสียชีวิตทั้งที่ไม่มีอาวุธ แต่คนดำมีแค่สิทธิตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น แถมยังต้องสู้รบปรบมือกับตำรวจอย่างเนืองนิจด้วย เพราะกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งจนกลายเป็นการจลาจลครั้งใหญ่หลายครั้งเช่นกัน

โศกนาฏกรรมในสองคดีนี้ได้ปลุกกระแสให้ประเด็นการเหยียดสีผิวในสหรัฐฯกลับมาได้รับการพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ปัญหาความไม่เทียมกันในสังคมได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหรือทัศนะคติของคนขาวที่มีต่อคนผิวดำ แม้ว่าทางหนึ่งผู้จุดประกายจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายก็ตาม ขณะเดียวกัน การเหยียดผิวไม่ใช่ปัญหาใหม่ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่และไม่ได้รับการแก้ไขให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมมากนัก ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันจะเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศก็ตาม

ไม่ว่าจะอย่างไร คนผิวสีในสหรัฐฯ ก็คงไม่ใช่ตัวปัญหาสำหรับประเด็นการเหยียดสีผิว แต่มันกลายเป็นปัญหาสำหรับคนผิวขาวที่มีกฎหมายอยู่ในมือ

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog