สถานการณ์ความเลวร้ายของภัยแล้งบริเวณดินแดนแถบแอฟริกา ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนถึงกว่า 10 ล้านคน ทั้งในประเทศเคนยา, เอธิโอเปีย, จิบูตี และโซมาเลียโดยฝนที่ขาดช่วงมาเป็นเวลาถึงกว่า 2 ฤดู รวมถึงปรากฏการณ์ลานีญาส่งผลให้ทางองค์การสหประชาชาติมีมติกำหนดให้สถานการณ์ในทวีปแอฟริกาตะวันออก อยู่ในระดับ'ก่อนสภาพความอดอยาก' ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงน้อยกว่า 'ภัยพิบัติ' อยู่เพียงหนึ่งขั้น
จากรายงานองค์กรระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าทวีปแอฟริกา ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก ปรากฏการณ์โลกร้อนโดยหน่วยงานด้านความช่วยเหลือสากล กล่าวว่าในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศในทวีปแอฟริกามีลักษณะผิดปกติและแปรปรวนเป็นอย่างมากซึ่งในบางพื้นที่ต้องประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันขณะที่ชาวโซมาเลียในขณะนี้ ต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี
ความเลวร้ายของสถานการณ์ในแอฟริกา ยังถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยด้านการเมืองถึงขนาดมีการยอมรับกันว่า ดินแดนแห่งนี้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีปัญหาข้อพิพาทและความขัดแย้งรุนแรงที่สุดในโลกนับตั้งแต่ถูกเข้ายึดครองโดยจักรวรรดิอังกฤษ, ตลอดช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ในช่วงสงครามการก่อการร้ายและการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจของกองกำลังในท้องถิ่นแอฟริกา
สภาพภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลแดงและน้ำมันรวมถึงแร่ธรรมชาติปริมาณมหาศาลจูงใจให้ชาวต่างชาติมุ่งเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทวีปแอฟริกา เป็นเวลามากกว่า 150 ปีขณะเดียวกันความขัดแย้งในเรื่องของอำนาจท้องถิ่นส่งผลให้เกิดปัญหาการก่อการร้าย, สงครามกลางเมืองรวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากใช้วิธีการข่มขืนเป็นอาวุธในการข่มขวัญ และครอบครองพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ เปิดเผยว่าสงครามในประเทศโซมาเลีย ส่งผลให้มีประชาชนกว่า 20,000 คนหลบหนีเข้าไปยังเคนยา ภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ขณะที่มีประชาชนชาวโซมาเลียอีกหลายพันคนอพยพหนีภัยแล้งไปพบกับชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน ในประเทศเอธิโอเปีย
รัฐบาลเคนยาพยายามประกาศปิดด่านชายแดน แต่ในปัจจุบันยังมีผู้ลี้ภัยอพยพเข้าประเทศเป็นจำนวนกว่า 1,200-1,550 คน ทุกวัน ขณะที่ค่ายอพยพในเมืองดาบาบ ของเคนยาซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2534 หลังโซมาเลียเกิดสงครามกลางเมืองและสามารถรองรับผู้ลี้ภัยได้ถึงกว่า 90,000 คน แต่ในปัจจุบันมีประชาชนแออัดอยู่ภายในค่ายอพยพแห่งนี้ เป็นจำนวนถึงกว่า 370,000 คน
Produced by Voice TV