รายงานพิเศษชุดอารยธรรมพุทธภูมิ ตอน 'เมืองโอชาร์'
โอชาร์ เมืองเล็กๆ ในยุคกลางของอินเดีย สร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปกครองโดยราชวงศ์ราชปุต ภัณฑาละตั้งอยู่บนเกาะกลางของแม่น้ำเบตวา ในแคว้นมัธยประเทศทางตอนกลางของอินเดีย อยู่ห่างจากเมืองคาจูราโฮที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก170 กิโลเมตร
เมืองโอชาร์ที่ปกครองโดยราชวงศ์ภัณฑาละ ตกอยู่ในสถานะเมืองบริวารของราชวงศ์โมกุล ที่ปกครองอินเดียทางตอนเหนือในช่วงคริสตวรรษที่ 16 ถึง 19 กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองโอชาร์ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ราชสำนักของจักรวรรดิโมกุล ยุครุ่งเรืองของจักรวรรดิโมกุล คือ ยุคพระเจ้าอัคบาร์ทรงแผ่ขยายอาณาเขตการปกครอง ทรงใช้กุศโลบายการแต่งงานกับเจ้าหญิงฮินดู เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาฮินดู ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และยกเลิกการเก็บภาษีศาสนา เพื่อให้ชาวฮินดู อิสลาม และศาสนาอื่น ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้
จุดที่น่าสนใจของเมืองโอชาร์ คือ ป้อมปราการขนาดใหญ่ที่สร้างรายล้อมพระราชวัง ซึ่งเป็นสถานที่พำนักของมหาราชา ป้อมปราการถือเป็นด่านสุดท้ายของเมือง ถ้าตีป้อมปราการแตกก็หมายถึงยึดเมืองนั้นได้
จุดแรกที่นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองโอชาร์ต้องไม่พลาด คือ พระราชวังราชมาฮาล สร้างในสมัยพระเจาบีซิงค์เดโอแห่งราชวงศ์ภัณฑาละ ราชวงศ์ที่ปกครองเมืองโอชาร์เกือบ 200 ปี ระหว่าง คศ.1531- 1783 พระราชวังราชมาฮาลมีห้องราว 132 ห้องแบ่งเป็น 4 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของทหาร ชั้นที่สอง นางสนม คนรับใช้ ชั้นที่ 3 เป็นสถานที่ประทับของมหาราชา ส่วนชั้นที่ 4 เป็นที่ประทับของมหาราชินี ซึ่งในยุคพระเจ้าบีซิงค์เดโอทรงมีพระมเหสี 6 พระองค์ ห้องที่ชั้น 4 จึงมี 6 ห้อง และมีช่องทางเดินลับ สู่ห้องมเหสีแต่ละองค์ด้วย ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเป็นการผสมผสานระหว่างฮินดู กับอิสลาม เช่น ภาพเขียนรูปดอกไม้ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลาม ส่วนรูปเขียนสัตว์ เช่นวัว ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู
ไฮไลท์อีกจุดหนึ่งคือ พระราชวังซาฮังกรี ที่สร้างขึ้นอย่างงดงามอลังการ เพื่อต้อนรับ พระเจ้าซาฮังกรี กษัตริย์แห่งราชวงศ์โมกุล ที่เดินทางมาพักค้างคืนเพียงแค่ 1 ราตรีเท่านั้น แต่ถือเป็นความชาญฉลาดของกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองโอชาร์ ที่ใช้วิเทศโศบายทางการทูตเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ราชวงศ์ที่ต่างศาสนา และตกอยู่ในฐานะเมืองบริวาร
ความงดงามของสถาปัตยกรรมพระราชวังซาฮังกรีห์ ปรากฎให้เห็นผ่านระเบียง และเชิงชายกว้าง ทำให้เกิดความสมดุลย์กับโครงสร้างบังตาที่ฉลุเป็นช่อง มีโดมขนาดใหญ่เป็นเหมือนป้อมปราการ และเมื่อมองจากด้านบนพระราชวังจะเห็นทิวทัศน์ที่งดงามของแม่น้ำเบตวา และป้อมปราการภายนอก
เมืองโอชาร์ในวันนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะมี "ความเงียบสงบ"ต่างจากเมืองใหญ่ ๆอื่นของอินเดีย ประชากรที่อาศัยในเมืองโอชาร์มีไม่เกิน 10,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังคงรักษาค่านิยมเรื่องระบบชนชั้นวรรณะเอาไว้อย่างเหนียวแน่น รวมถึงการแต่งงานแบบคลุมถุงชน
โอชาร์ยังมีความหมายว่า เร้นลับ ซ่อนเร้น แต่ในวันนี้เมืองโอชาร์ ไม่ได้เก็บตัวซ่อนเร้นอีกต่อไป เพราะความงดงามของโบราณสถาน ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ร่องรอยอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่ปรากฎชัดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก