พริกไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน และมีสรรพคุณเป็นยา โดยเฉพาะพริกไทยดำมีสารพิเพอรีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ และลดน้ำหนักแต่ไม่ควรทานในปริมาณมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน
พริกไทยมี 3 ชนิด คือ พริกไทยดำ ,พริกไทยขาวหรือเรียกว่า พริกไทยล่อน และพริกไทยอ่อนหรือพริกไทยสด โดย พริกไทยดำมาจากผลพริกไทยที่โตเต็มที่มีสีเขียวเข้มจัด นำมาตากแดดให้แห้งจนเป็นสีดำ ส่วนพริกไทยขาว มาจากผลสุกที่แก่จัดจนเป็นสีแดงมาแช่น้ำ นำมาลอกเปลือกออก แล้วตากแดดให้แห้ง ก็จะได้ผลสีขาว และพริกไทยอ่อน คือผลของพริกไทยที่ยังโตไม่เต็มที่
พริกไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน และมีสรรพคุณเป็นยา ดังนี้
รากพริกไทย มีรสร้อน แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร
เถาพริกไทย รสร้อน แก้ท้องร่วงอย่างรุนแรง แก้เสมหะในทรวงอก
ใบพริกไทย รสเผ็ดร้อน แก้ลม แก้จุกเสียด แน่น ปวดมวนท้อง
ดอกพริกไทย รสเผ็ดร้อน แก้ตาแดง
เมล็ดพริกไทย รสเผ็ดร้อน แก้ลม อัมพฤกษ์ บำรุงสายตา แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้เสมหะ แก้ตกขาว
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจัยพบว่า พริกไทยดำมีสารพิเพอรีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ ซึ่งทีมวิจัยได้นำสารพิเพอรีน มาทดลองในหนูที่เซลล์ประสาทส่วนของการรับรู้ ตายหรือความจำเสื่อมกับหนูปกติด้วยการหยดสารพิเพอรีนทางรูจมูก เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการจดจำของหนูที่ได้รับสารในการจดจำจุดหมายในอ่างน้ำ ปรากฏว่า หนูที่มีความจำเสื่อมกลับหายเป็นปกติ
การปรุงอาหารด้วยพริกไทยดำ ไม่ควรใส่พริกไทยดำขณะที่ใช้ความร้อนมากๆ เพราะจะทำให้สารพิเพอรีนสูญหายไปและควรเลือกพริกไทยดำที่มีคุณภาพดีไม่เก่าเก็บจนเกินไป โดยวิธีสังเกตง่ายๆ คือหากพริกไทยดำที่เรารับประทานมีความเผ็ดร้อนน้อยแสดงว่ามีปริมาณสารพิเพอรีนน้อยและหากรับประทานสารพิเพอรีนในปริมาณที่เพียงพอคือ ขนาด 300 มิลลิกรัม จะมีประโยชน์ต่อร่างกายในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่ปัจจุบันที่มีผู้นิยมนำพริกไทยมาทานลดความอ้วน แม้จะทำให้น้ำหนักลดลงได้จริงแต่หากทานในปริมาณมากๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้มีสารสารอัลคาลอยด์ตกค้างในร่างกาย เนื่องจากร่างกายขับออกมาไม่หมด ส่งผลต่อการทำงานของตับและอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย
เรียบเรียงจาก : http://www4.thaihealth.or.th/