23 ตุลาคมของทุกปี เป็นอีกหนึ่งวันที่หัวรถจักรไอน้ำ จะออกมาโลดแล่นบนราง เพื่อนำประชาชนไปสัมผัสเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ-บางปะอิน-อยุธยา ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของไทย ปัจจุบันรถจักรไอน้ำ 5 หัวสุดท้ายของไทย จอดอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี ภายใต้การดูแลของช่างชำนาญการที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ
ใน 1 ปี คนไทยจะได้ยินเสียงรถจักรไอน้ำ 4 ครั้ง คือวันที่ 26 มีนาคม วันสถาปนากิจการรถไฟ วันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ วันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช และวันที่ 5 ธันวาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ประชาชนที่มาร่วมขบวนพิเศษนี้ มีความตั้งใจหลากหลาย บ้างก็ต้องการนั่งรถจักรไอน้ำสักครั้งในชีวิต ว่าจะมีความแตกต่างจากรถไฟในปัจจุบันมากน้อยขนาดไหน บ้างก็อยากศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพ-บางปะอิน-อยุธยา ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยหัวรถจักรไอน้ำเช่นในอดีต แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร วันนี้ความตั้งใจของพวกเค้าเป็นจริงแล้ว
ปัจจุบันรถจักรไอน้ำ 5 หัวสุดท้ายของไทย จอดอยู่ที่โรงรถจักรธนบุรี ริมคลองบางกอกน้อย โดยมีนายทวีศักดิ์ กุมภีพงษ์ ผู้ช่วยสารวัตรโรงรถจักรธนบุรี เป็นหนึ่งในผู้ดูแล และซ่อมบำรุงหัวรถจักรไอน้ำ ที่สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งสอง ซึ่งมีอายุกว่า 80 ปีเหล่านี้
การแบ่งประเภทของรถจักรไอน้ำจะดูจากการจัดเรียงล้อ แบบแรกคือ โมกุล หรือ ซี 56 มีอยู่ 2 หัว คือหมายเลข 713 และ 715 สร้างขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นราวปี 2478 เคยใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อลำเลียงกำลังพล และยุทโธปกรณ์ มีน้ำหนักประมาณ 37 ตัน ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลง จึงมักถูกใช้ในงานสัปดาห์สะพานแม่น้ำแคว
ต่อมาเป็นรถจักรไอน้ำ ที่ดัดแปลงมาใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้ฟืน คือแบบมิโดกา หมายเลข 953 ผลิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองราวปี 2492 ที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้สำหรับลากจูงสินค้า มีน้ำหนักประมาณ 58 ตัน
และแบบสุดท้ายคือ แปซิฟิค มีอยู่ 2 หัว คือหมายเลข 824 และ 850 ซึ่งนำออกมาใช้ในงานวันปิยมหาราชปีนี้ สร้างขึ้นราวปี 2492 ต่อมาในปี 2514 ถูกดัดแปลงมาใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงเช่นกัน จากนั้นมีการเปลี่ยนหม้อน้ำ ติดตั้งระบบห้ามล้อลมอัด เพื่อใช้สำหรับลากจูงขบวน และเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น มีน้ำหนักประมาณ 58 ตัน
การบำรุงรักษารถจักรไอน้ำทั้ง 5 หัว ให้สามารถโลดแล่นไปบนรางในยุคปัจจุบันได้อย่างสง่างาม คือความภูมิใจอีกอย่างหนึ่งของนายช่างคนนี้ ที่สามารถทำให้คนรุ่นใหม่สัมผัสบรรยากาศยุคแรกของรถไฟไทย เมื่อกว่า 120 ปีก่อนได้ แต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ อาจกลายเป็นอุปสรรคในการบำรุงรักษารถจักรไอน้ำรุ่นเก่า
นอกจากอุปสรรคด้านเครื่องไม้เครื่องและอะไหล่ สำหรับการซ่อมบำรุงหัวรถจักรไอน้ำแล้ว บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางด้านนี้ ก็ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะทำให้หัวรถจักรไอน้ำทั้ง 5 หัวที่เหลืออยู่ สามารถขับเคลื่อนไปบนรางรถไฟในปัจจุบันได้ ท่ามกลางหัวรถจักรสมัยใหม่ที่ทยอยเข้ามามีบทบาทในระบบรางคู่มากขึ้น
นี่จึงถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่จะต้องจัดสมดุล ระหว่างระบบเก่าที่ต้องการอนุรักษ์ และระบบใหม่ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ได้อย่างลงตัวมากที่สุด