LGBT Voice ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2557
สำรวจตลาดหนังสือของคนรักเพศเดียวกันในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพาน ที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเลสเบี้ยน ตั้งข้อสังเกตว่า จำนวนหนังสือ ที่ยังขายได้น้อย สะท้อนว่า “เลสเบี้ยน” ยังเป็นเพศซึ่งไร้ที่ยืนในสังคมไทย
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คาดการณ์จำนวนผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติปีนี้ ไว้สูงถึง 1 ล้าน 9 แสนคน ช่วยให้เงินสะพัดในวงการหนังสือและไปยัง 435 สำนักพิมพ์ กว่า 700 ล้านบาท
สำนักพิมพ์แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อผลิตวรรณกรรมถ่ายทอดชีวิตของคู่รักเลสเบี้ยน ผู้ผลิตเล่าว่าวรรณกรรมที่นำเสนอจะมีโครงเรื่อง เนื้อหา และวิธีการเล่าเรื่อง เหมือนวรรณกรรมคู่รักชายหญิงทั่วไป ต่างแต่เพียงว่า สะพานเลือกจะเล่าชีวิต ความรักและความสัมพันธ์ของผู้หญิง กับผู้หญิง ที่ไม่ได้แตกต่างจากเพศอื่น
เจ้าของสำนักพิมพ์เล่าว่า ลูกค้าของเธอยังคงเป็นคนกลุ่มเดิม คือ เลสเบี้ยน ขณะที่การเดินเข้าซื้อหนังสือประเภทนี้ ที่แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ยังคงเป็นเรื่องน่าอับอายไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่างกับการเปิดตัวว่าเป็น หญิงรักหญิง ในสังคมไทย เพราะพวกเธอยังฝังใจว่า เลสเบี้ยน ไม่ใช่เพศที่ยอมรับได้อย่างเปิดเผยในสังคม
ผิดกับหนังสือแนวชายรักชายที่มาฝากขายในบูธสำนักพิมพ์สะพาน ที่พบว่าขายดีเกินคาด สะท้อนทัศนะของสังคมที่เริ่มเห็นว่าความรักของชายรักชายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น
ท่ามกลางความเงียบเหงา ของวรรณกรรมเลสเบี้ยน ทำให้สำนักพิมพ์ต้องลดจำนวนการผลิต จากพิมพ์ครั้งละ 3000 เล่ม ไปเป็นการตีพิมพ์ผ่านระบอบ on demand ครั้งละ 200-300 เล่มแทน เพราะหากไม่ลดปริมาณลง สำนักพิมพ์อาจจะต้องขาดทุน จนกระทั่งต้องปิดกิจการ
อะไรคือเหตุผล ที่ทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างสะพาน ยังคงเดินหน้าตีพิมพ์วรรณกรรมสีรุ้งอย่างต่อเนื่อง //แม้จะรู้ดีว่า ไม่สามารถสร้างรายได้ได้มากนัก และมีผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากก็ตาม
คงมีสักวันที่บูธหนังสือของ LGBT จะได้รับความนิยมเหมือนหนังสือประเภทอื่นๆ เพราะนั่นหมายถึงสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว เปลี่ยนให้ทุกเพศมีที่ยืนอย่างเสมอภาคกัน