ไม่พบผลการค้นหา
อุปกรณ์ไบโอนิก หรือการผสมผสานการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับอวัยวะในร่างกายของเรา เป็นเทรนด์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจพัฒนา
Innovation Update ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2557 
 
อุปกรณ์ไบโอนิก หรือการผสมผสานการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับอวัยวะในร่างกายของเรา เป็นเทรนด์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังสนใจพัฒนา วันนี้จะพาไปรู้จักกับตาเทียมไบโอนิก เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอด
 
เจอเรียน เพิร์กอาจยิงธนูไม่เข้าเป้า 10 คะแนน แต่ถือว่าชอตนี้ดีมากสำหรับเขาที่ตาบอดทั้งสองข้าง  เพิร์กถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคจอตาเสื่อมประเภทอาร์พี ตั้งแต่อายุ 11 ปี ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นได้ มองไม่เห็นแม้แต่แสงที่ตกไปที่จอประสาทตา แต่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เพิร์กได้ผ่าตัดติดตั้งระบบเรตินาเทียม อาร์กัส 2 หรือที่เรียกสั้นๆว่า ตาเทียมไบโอนิก ทำให้เขาเป็นคนที่ 2 ในเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการติดตั้งตาเทียมไบโอนิก
 
เพิร์กสแกนเป้ายิงธนูด้วยระบบอาร์กัส 2 ที่ช่วยให้เขามองเห็นรูปร่างและโครงร่างของเป้าธนูด้วยความแตกต่างของสีสันที่มีความละเอียดสูง ซึ่งทำให้เขาสามารถยิงเข้าเป้าเกือบทุกครั้ง
 
ระบบอาร์กัส 2 ประกอบไปด้วยแว่นตาที่มีกล้องและชิปขนาดจิ๋วอยู่ด้านข้าง ในชิปนี้จะมีแผ่นอิเล็กโทรด 60 แผ่นที่ติดตั้งในดวงตา และเชื่อมต่อกับหน่วยคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่มีปุ่มปรับความแตกต่างของแสง สำหรับกลางวันและกลางคืน
วิดีโอที่ถ่ายภาพโดยกล้องที่แว่นตาจะประมวลผลด้วยหน่วยคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ และจะแปลงเป็นคำสั่ง แล้วส่งสัญญาณกลับไปที่แว่นตาอีกครั้งด้วยระบบเชื่อมต่อแบบไร้สายไปที่แผ่นอิเล็กโทรดที่ถูกติดตั้งในดวงตา ซึ่งแผ่นอิเล็กโทรดนี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ ผ่านเซลล์ที่ผิดปกติไปกระตุ้นเซลล์เรตินาที่ยังใช้การได้
 
ด็อกเตอร์ มาร์โก มูรา ศัลยแพทย์วุ้นตาและเรตินาที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ผ่าตัดติดตั้งตาเทียมไบโอนิกให้เพิร์กกล่าวว่า ตาเทียมไบโอนิกนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร หากเรายืดแขนทั้ง 2 ข้างออกมา จะคิดเป็นความกว้างในการมองเห็นของผู้ที่มีตาเทียมไบโอนิก คือ ประมาณ 20 องศาเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างแคบ ดังนั้น จะต้องหันไปรอบๆเพื่อสแกนหาความแตกต่างของแสงและสีสัน นอกจากนี้ จะต้องมีการฝึกฝนการใช้ตาเทียม และเรียนรู้รูปแบบต่างๆบนบอร์ดแม่เหล็กสีดำสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้สมองจดจำรูปร่างต่างๆที่พบเจอได้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ตาเทียมไบโอนิกระบบอาร์กัส 2 ยังใช้ได้ผลกับผู้ป่วยจอตาเสื่อมประเภทอาร์พีเท่านั้น เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีความบกพร่องทางการมองเห็นมาแต่กำเนิด และมีประสบการณ์การมองเห็นมาก่อน สมองจึงสามารถสร้างภาพขึ้นมาจากรูปร่างที่เห็นได้ ทั้งนี้ ดอกเตอร์มูราก็หวังว่า เทคโนโลยีที่เขากำลังจะพัฒนาต่อไปนี้จะช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นประเภทอื่นๆได้ด้วย
 
 
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
181Article
60261Video
0Blog