LGBT Voice ประจำวันที่ 27 กันยายน 2557
lgbt voice วันนี้ ชวนไปจับกระแสความก้าวหน้าของหนังคนรักเพศเดียวกันของไทย ในรอบ 7 ปี หลังการฉายรักแห่งสยาม ภาพยนตร์ ที่จุดกระแส 'หนังชายรักชาย' ให้มีพื้นที่ในสังคมไทยมากขึ้น แต่อาจไม่ใช่การสร้างความยอมรับคนรักเพศเดียวกันในสังคมอย่างแท้จริง
หนัง รักแห่งสยาม ที่เข้าฉายในปี 2550 คือ จุดเริ่มต้นของการจุดกระแส ช่วยบันทึกและยืนยัน ถึงความรักของคนรักเพศเดียวกันบนแผ่นฟิล์ม ทำรายได้มากถึง 42 ล้านบาท และได้ไปฉายในจีน ญี่ปุ่นและสิงคโปร์
ในช่วงปีเดียวกัน พจน์ และสหมงคลฟิล์ม นำเสนอหนังเรื่อง เพื่อน...กูรักมึงว่ะ ต่อสังคมไทย โดยประกาศอย่างชัดเจนว่านี่คือหนังชายรักชาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับคัดเลือกไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ผู้สร้างอิสระ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และได้รับเลือกเป็นภาพยนตร์เปิด เทศกาลภาพยนตร์เกย์และเลสเบี้ยน ที่ฮ่องกง
3 ปีต่อมา สังคมไทยได้รู้จักความรักของหญิงรักหญิงมากขึ้น ผ่านภาพยนตร์เรื่อง " Yes or No อยากรัก ก็รักเลย " ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ จนต้องสร้างภาค 2 ในปี 2555 นั่นคือ Yes or No 2 รักไม่รักอย่ากั๊กเลย
ปี 2555 มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับหนังรักแห่งสยาม ทำหนังที่แทรกเนื้อหาความรักของคนรักเพศเดียวกันไว้อีกครั้งกับหนังเรื่อง " Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ "
ขณะที่วันแห่งความรัก ในปี 2555 หนังเรื่อง " ไม่ได้ขอให้มารัก It Gets Better " ของ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ก็เข้าฉาย หนังเรื่องนี้ ย้ำจุดยืนชัดเจนว่านี่เป็นภาพยนตร์สะท้อนชีวิตของคนเพศที่ 3
ส่วนในปีนี้ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา My Bromance หนังโรงเล็กก็เข้าฉายพร้อมทำรายได้ได้เกินคาด
เหล่านี้คือไทม์ไลน์ของหนังคนรักเพศเดียวกัน แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่เห็นได้จากภาพยนตร์ คือบทสรุปของหนัง ที่มักสรุปว่าความรักระหว่างชายรักชายเป็นของต้องห้าม บทสรุปเช่นนี้ บอกอะไรสังคมไทย
ความนิยมของหนังคนรักเพศเดียวกัน พุ่งสูงอีกครั้ง พร้อมกับกระแสสาววาย หรือ ผู้หญิงที่มีความสุข เมื่อเห็นชายรักชาย ผ่าน ภู-ธีร์ ในฮอร์โมนเดอะซีรีย์ และปุณ-โน่ จากเลิฟซิกเดอะซีรีย์ คือ ภาพสะท้อนปรากฎการณ์นี้
และหนังเกย์เรื่องล่าสุดที่กำลังเป็นกระแส teacher and student หนังซึ่งถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างครู และนักเรียน หากดูจาก timeline ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เราจึงมีข้อสังเกตว่า หนังเกย์ไทยก้าวหน้า หรือ ล้าหลัง
คนรักเพศเดียวกันที่มีมากขึ้นในสังคมไทย และบางเรื่องสร้างได้ทั้งเงินและกล่องในเวลาเดียวกัน เป็นเพียงความก้าวหน้าของการทำงานศิลปะในวงการทำหนัง และทำละคอนเท่านั้น ที่กล้าเดินนอกกรอบจารีตประเพณีที่ถูกขีดไว้ แต่อาจยังไม่ตอบโจทย์ เรื่องการยอมรับ LGBT ที่ก้าวหน้าในสังคมเท่าที่ควร