ไม่พบผลการค้นหา
Innovation Update ประจำวันที่ 8 กันยายน 2557
Innovation Update ประจำวันที่ 8 กันยายน 2557
 
ห้องสมุดหลายแห่งต้องพบปัญหา เมื่อหนังสือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การหาพื้นที่จัดเก็บให้เพียงพอและสะดวกต่อการค้นหา เป็นเรื่องที่ลำบากอยู่พอสมควร ล่าสุด ห้องสมุดในออสเตรเลียได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยจัดเก็บหนังสือมาใช้แล้ว รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในช่วง Innovation Update 
 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ในเมืองซิดนีย์ของออสเตรเลีย เพิ่งเริ่มใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ราคาหลายล้านบาท ในการจัดระเก็บหนังสือที่มีอยู่กว่า 3 แสนเล่มในห้องสมุดใต้ดิน 
 
มัล บูธ บรรณารักษ์ของมหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการนำระบบนี้เข้ามาใช้ก็คือ ห้องสมุดต้องการให้ชั้นวางหนังสือในห้องสมุดมีพื้นที่ว่างสำหรับหนังสือใหม่ๆมากขึ้น แต่ก็ยังต้องการให้นักศึกษาสามารถเข้าหนังสือที่สำคัญๆได้สะดวกและรวดเร็ว ส่วนพื้นที่ห้องสมุดที่เหลือก็เอาไว้ทำกิจกรรมอย่างอื่นๆแทน
 
บูธอธิบายว่า แม้โครงการนี้มีมูลค่ามากกว่า 834 ล้านบาท แต่มหาวิทยาลัยมองว่าการลงทุนกับระบบจัดเก็บหนังสือใต้ดินนี้ถือว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับการต้องสร้างอาคารห้องสมุดขึ้นมาใหม่อีกแห่งหนึ่งในเมืองที่ราคาที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์สูงลิ่วอย่างในนครซิดนีย์ 
 
นอกจากนี้ คลังเก็บหนังสือใต้ดินนี้มีการควบคุมสภาพอากาศ ทำให้มั่นใจได้ว่า หนังสือจะไม่เสียหายจากเชื้อรา ฝุ่น หรือน้ำ และที่สำคัญ ระบบนี้ยังมีจุดเด่นอยู่ที่ นักศึกษาไม่ต้องเดินหาหนังสือด้วยตัวเอง เพียงแค่ใช้ระบบทัชสกรีนในการเรียกหนังสือ หุ่นยนต์เครนก็จะไปเอาหนังสือที่เราต้องการจากคลังหนังสือใต้ดินขึ้นมาให้เราเอง ทำให้ไม่เสียเวลา และหลังจากที่เราอ่านหนังสือจบแล้ว เราก็สามารถเอาหนังสือกลับไปวางที่ชั้นวางหนังสือกลาง แล้วหุ่นยนต์ก็จะจัดเรียงหนังสือเข้าที่โดยอัตโนมัติ บรรณารักษ์ห้องสมุดไม่จำเป็นต้องขนหนังสือมากมายไปวางไว้ตามชั้นหนังสือต่างๆเองอีกต่อไป 
 
หนังสือแต่ละเล่มจะถูกจัดเรียงตามแท็กความถี่ คลื่นวิทยุ ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปสำหรับหนังสือแต่ละเล่ม และหนังสือที่มีคนเรียกใช้ไม่บ่อยนักก็จะถูกจัดเก็บไว้ในห้องสมุดใต้ดินที่ อยู่ลึกลงไปใต้ระดับพื้นถนนเท่ากับตึก 5 ชั้น โดยหนังสือเหล่านี้จะอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์โลหะที่มีการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนไปได้
 
นางชาร์ลีน สโคบี ผู้จัดการด้านการเข้าใช้ห้องสมุดบอกว่า แม้ระบบจัดเก็บหนังสือระบบใหม่นี้จะเปิดใช้บริการเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น แต่ก็มีคนเข้ามาใช้บริการมากกว่า 600 ครั้งแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจมากทีเดียว และคาดการณ์ว่า หลังจากการประชาสัมพันธ์ของห้องสมุด เพื่อแนะนำบริการใหม่และวิธีใช้แล้ว ก็น่าจะมีนักศึกษาสนใจใช้บริการนี้มากยิ่งขึ้น 
 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งนี้ยืนยันว่า โครงการร้อยล้านนี้ไม่ได้มีหน้าที่ซับซ้อนกับการเปลี่ยนไปตีพิมพ์หนังสือแบบออนไลน์แต่อย่างใด เนื่องจากนักศึกษาจำนวนมากยังชอบที่จะอ่านหนังสือแบบเดิมมากว่าที่จะอ่าน หนังสือจากหน้าจอคอมพิวเตอร์
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog